กรุสำหรับ ตุลาคม, 2013

รัฐโลก ศาสนา และสิทธิมนุษยชน

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ความจริงข่าวสารที่ออกจากสหรัฐอเมริกา ไม่ต่างจากข่าวสารที่มาจากประเทศต่างๆเกือบทั่วโลก คือ ถึงกันแทบ ทั้งหมด ยิ่งในโลกปัจจุบันที่สื่อออนไลน์พัฒนาไปมากด้วยแล้ว โอกาสในการเข้าถึงสื่อ ก็แทบเท่ากันทั้งหมด ยกเว้นบางประเทศที่กีดกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ผมจึงถือว่า คนไทยเรารับรู้ข่าวสารจากสื่อ หลากหลากหลายประเภทกันเป็นปกติเท่ากับการรับ รู้ของคนอเมริกัน หรือบางครั้งคนไทยที่สนใจความ เคลื่อนไหวของโลกอยู่แล้วอาจรับรู้ข่าวสารมากกว่า คนอเมริกัน ที่ไม่สนใจเสียด้วยซ้ำ ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ ทำให้ผมคิดว่าการนำเสนอเหตุการณ์ในเชิง การวิเคราะห์ หรือสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์(ข่าวสาร)ที่เกิดขึ้น น่าจะดีกว่าการเล่าข่าวแต่เพียงอย่างเดียวGomberg_map

ข่าวที่เป็นการรายงานสถานการณ์นั้น จัดเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิ หรือข้อมูลดิบ แม้ผ่านการรีไรท์ (rewrite/edit) จากบรรณาธิการข่าวมาแล้วก็ตาม อาจไม่ได้ตรงเป๊ะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อย มันก็มีลักษณะของความเป็นรายงานอยู่ คือ ผ่านการตีความในชั้นการกรองเท่านั้น ยังไม่ถูกตีความ ในเชิงการวิเคราะห์จากผู้นำเสนอ (ซึ่งหมายถึงการใส่ความเห็นของคนวิเคราะห์ เพื่อที่จะให้เป้าประสงค์ ของการนำเสนอโดดเด่นตามที่กำหนดหรือตามที่ต้องการ)

และผมคิดว่า การวิเคราะห์ประเด็นข่าว น่าจะสำคัญเชิงการได้ประโยชน์เพิ่มกว่าการนำเสนอด้วย วิธีการเล่าข่าวหรือรายงานเหตุการณ์ชั้นปฐมภูมิ

คราวนี้อยากชวนให้มาดูสถานการณ์บางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมี นัยสำคัญกับความเป็นไปและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก จากกระแสความเป็นไปหรือทิศทาง ของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า new world order (NWD) ซึ่งมีความหมายอย่างน้อยก็ 2 ความหมาย ความหมายแรก คือ หมายถึงกระแสความเป็นไปของโลกโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายนำหรือ เป็นฝ่ายกำหนด กับความหมายที่สอง ซึ่งก็อยู่ในบริบทเดียวกัน คือ world government หรือรัฐบาลโลก ที่รัฐบาลอเมริกันทำหน้าที่เป็นรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบ(order)โลก ตามแนวทาง ความเชื่อ และปรัชญาอเมริกัน

ว่ากันตามจริงแล้วมีสิ่งที่ควรทราบอย่างน้อย 2 ประการเกี่ยวกับ new world order ที่หมายถึง สหรัฐอเมริกา ประการแรกคือ new world order มีหลายด้าน เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น ที่สำคัญคือ new world order อิงอยู่กับอำนาจทางการทหารเป็นสำคัญ, ประการที่สอง คือ order ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายในเชิงการเข้าไปปฏิบัติการควบคุมหรือบังคับโดยตรง เสมอไป แต่เป็นการกำกับทางอ้อม โดยใช้อุดมการณ์ เป็นเครื่องมือ เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม ทุนนิยมเสรี สิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งว่าไปแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ก็ดูสมเหตุสมผล ในเชิงมนุษยนิยม หรือการให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะสิทธิ เสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เนื้อหาสาระของอุดมการณ์ เหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกัน พลโลกผู้สนใจระเบียบเหล่านี้ ไม่พึงเพิก เฉยใส่ใจต่อรัฐธรรมนูญอเมริกัน เพื่อความเข้าใจอุดมการณ์ร่วมกันอย่างตรงกัน

ในระเบียบอเมริกันชุุดนี้ ปัจเจกชน ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างมาก ในนามของการมีสิทธิ เสรีภาพ ที่ไม่รุกล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ที่สำคัญผลพวงของระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงพื้นฐาน ของความเป็นปัจเจกภายนอกเท่านั้น หากแต่ส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนลึกถึงกระบวนการด้านจิตวิญญาณ ที่เป็นกระบวนการภายในของมนุษย์ ภายใต้ “ความเชื่อความศรัทธา”

เช่น ผลพวงจากการประกาศตนเองเป็นรัฐมนุษยวิสัย (secular state) โดยไม่ยอมให้ความเชื่อและ ความศรัทธาด้านศาสนาขึ้นมาสัมพันธ์กับอุดมการณ์ของรัฐในเชิงของคำประกาศอุดมการณ์อย่างเป็นทางการ แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของปัจเจก จนต่อมารัฐมนุษยวิสัยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจารีตอเมริกัน ที่เน้นศูนย์กลางไปที่ความเป็นมนุษย์ หรือ “สิทธิมนุษยชน” นั่นเอง จากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าหน้า ไหนก็ตามในโลก มีพื้นฐานความต้องการเหมือนกัน เช่น ความรักตัวกลัวตาย ความต้องการเสรีภาพ เป็นต้น แหละนั่นหมายถึงความเป็นสากลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เผ่าพันธุ์ใดก็ตาม การที่จะไปกำหนดว่าชาตินั้นเผ่าพันธุ์นี้มีหลักสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบเดียวกันระเบียบ อเมริกันถือว่าไม่มี แต่หากจะมีก็ไม่ใช่เป็นวิธีการคิดหรือการเชื่อที่ถูกต้อง เพราะมนุษย์มีความปรารถนา พื้นฐานเหมือนกัน การปฏิบัติหรือวัตรปฏิบัติด้านศาสนาหากขัดแย้งต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ แล้วถือว่าขัดต่อระเบียบด้านสิทธิมนุษยชน

แม้จะมีผู้มองว่าการจัดระเบียบของรัฐบาลอเมริกันส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอเมริกัน เองในหลายด้าน เช่น ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า กระบวนการจัดระเบียบของสหรัฐอเมริกานี้มีผลให้โลกเกิดกระบวนทัศน์ใหม่หลายประการ กระบวน ทัศน์ทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในหลายกระบวนทัศน์นั้น และที่น่าแปลกก็คือ อุดมการณ์เสรี นิยมของอเมริกันไปตรงกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่มีเป้าประสงค์ คือ “การปลดปล่อย” เพียงแต่ต่าง ฝ่ายต่างให้นิยามของการปลดปล่อยแตกต่างกันไป อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เน้นการปลดปล่อยคนจากทุน นายทุน หรือเจ้าของกิจการ ส่วนอุดมการณ์เสรีนิยมของอเมริกัน เน้นการปลดปล่อยเชิงความเป็นอิสระของ ปัจเจก ซึ่งหมายถึงว่า การที่เราสามารถอยู่กับทุนได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจอย่างอิสระของเราเอง (แน่นอนว่าเราถูกทุนบังคับไม่มากก็น้อยให้เดินตาม) รวมถึงการที่เราจะเชื่อหรือศรัทธาอะไรก็ตามที่ไม่ ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น จนเกิดกระบวนทัศน์ ที่สำคัญอย่างหนึ่งและสหรัฐอเมริกาได้นำมาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบโลก คือ อุดมการณ์ ประชาธิปไตยที่อเมริกันเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากที่สุด

หากกล่าวให้เลยไปจากผลประโยชน์นิยมเชิงวัตถุของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว อุดมการณ์มนุษยนิยม ของประเทศนี้ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการจัดระเบียบ, new world order เป็นระเบียบสากลที่กำหนด จากพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ (สิทธิมนุษยชน) ภายใต้ระบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ที่แม้แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับสิทธิที่เป็นความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ และความปรารถนา ดังกล่าวยังรวมถึงความปรารถนาสากลในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาต่อลัทธิศาสนาของปัจเจก เพราะแน่นอนว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเชื่อปรากฎอยู่ภายในของเขาไม่ความเชื่อใดก็ความเชื่อหนึ่ง แม้ในบรรดาของคนที่อ้างตนว่า ไร้ศาสนาแต่ความไร้ศาสนาก็จัดเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง

นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นซึ่งเกิดขึ้นประมาณปี 1947 ถึง 1991 รัฐอเมริกันคอยจัดระเบียบอยู่ ตลอดเวลา จนกระทั่งอุดมการณ์ คอมมิวนิสต์ต้องยอมถอยร่นไปให้แก่การจัดระเบียบที่ว่า หมดยุค สงครามเย็น เป้าหมายของการจัดระเบียบกลับไปอยู่ที่ “รัฐศาสนา” (religious states) หรือถึงแม้จะไม่ ประกาศตนเป็นรัฐศาสนาก็ตาม แต่ประเทศที่มีลักษณะของความเป็นรัฐศาสนาซ่อนอยู่ภายในนั้น รัฐอเมริกันมองว่าไม่เข้ากับระเบียบของตน
นอกเหนือไปจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว สาเหตุของการจัดระเบียบขึ้นกับสภาพการณ์ของ รัฐหรือประเทศนั้นๆด้วย เหตุผลสำคัญคือ รัฐบาลของประเทศนั้นขัดแย้งกับแรงปรารถนาพื้นฐานของ มนุษย์ ซึ่งนั่นก็คือ สิทธิมนุษยชนนั่นเอง โดยเหตุผลดังกล่าว การบุกอิรัค ยึดอาฟฆานิสถาน การถล่มลิเบีย และล่าสุด คือ การเตรียมการ(รอตัดสินใจ)กำหนดเป้าหมายโจมตีซีเรียจึงเกิดขึ้น
ถัดมาจากช่วงสงครามเย็น โลกมุสลิม ถูกรัฐอเมริกันมองในเชิงของการขยายการใช้ระเบียบ และกลายเป็นหน้าด่านของการปะทะเพื่อการขยายระเบียบในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันผลการจัดระเบียบยังสัมพันธ์กับกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้น คือ อุดมการณ์ความเป็น ปัจเจกในเรื่องความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนา, ความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนาที่ดำเนินการ โดยรัฐย่อมได้รับผลกระทบจากการจัดหรือขยายระเบียบของสหรัฐอเมริกาด้วย ดังมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน รัฐพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา และสหภาพพม่า ซึ่งระเบียบที่ใช้ก็คือ ระเบียบว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเชิง ความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ (เพราะมนุษย์มีสิทธิ์เชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ตนเห็นดีเห็นงาม โดยคน อื่นไม่เดือดร้อนจากความเชื่อและความศรัทธานั้น)และระเบียบว่าด้วยประชาธิปไตย

แนวโน้มของจัดระเบียบส่วนหนึ่งที่รัฐอเมริกันกำลังขยายผล คือ การจัดระเบียบด้าน ความเชื่อ ความศรัทธา ลัทธิศาสนา รวมอยู่ในนั้นด้วยในเชิงการจำกัดอำนาจรัฐหรือแยกอำนาจรัฐออกจาก การจัดการหรือการควบคุมความเชื่อ ความศรัทธาในลัทธิศาสนา บ่มเพาะความเป็นมนุษยนิยมให้เพิ่มพูน มากขึ้น นั่นคือ มนุษยชนสากล หาไม่เช่นนั้นแล้วรัฐที่ยังดำเนินการควบคุมความเชื่อของประชาชนดังกล่าว ย่อมขัดกับ new world order

ระเบียบ new world order เป็นระเบียบเสรี ไม่ได้บอกให้คน ไม่สามารถมีความเชื่อ ความศรัทธา ในลัทธิศาสนาใดๆได้ แต่ระเบียบอ้างเหตุผลว่า การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาที่นิยามและยึดกุมโดยรัฐ กระทำการอย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นการละเมิดต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ สามารถนำไปสู่ ความรุนแรงและ อาชญะได้ หากรัฐไม่ปลดปล่อยพันธนาการความเชื่อ ความศรัทธา เหล่านี้ ให้เป็นเรื่องของปัจเจก

ผมไม่ได้บอกว่าระเบียบนี้ผิดหรือถูกนะครับ แต่เห็นทีเราจะต้องหันมาพิจารณาใคร่ครวญ ถึงระเบียบนี้กันบ้างแล้ว.

ใส่ความเห็น

จินตนาการแบบสลิ่มชนของสังคมไทยในอเมริกา

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

มีคนถามผมถึงความเป็นไปในเชิง “ลักษณะด้านความคิด” เช่น ความคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของคนไทยผู้อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถนิยาม หรืออธิบายเพื่อให้เห็นภาพได้อยู่บ่อ ยครั้งครับ ความจริงก็คือ คงไม่สามารถอธิบาย หรือนิยาม “ความเป็นคนไทยในอเมริกา” ให้ครอบคลุม ได้ทั้งหมดแน่นอน เพียงแต่หากต้องการการนิยามให้เห็นภาพบางส่วน เพื่อความเข้าใจของคนไทย ในเมืองไทย หรือคนไทยที่เดินทางมาสหรัฐฯ ช่วงสั้นๆ ที่มองภาพไม่ค่อยเคลียร์ก็น่าที่จะสามารถทำได้ ในลักษณะของการตั้งข้อสังเกต ซึ่งผู้รับฟังต้องใช้วิจารณญาณประกอบการรับฟังเรื่องราวดังกล่าวthaitown

ประการหนึ่ง คือ ไม่เคยมีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายรัฐและเอกชนไทย ประการสอง ไม่เคยมีการ ทำงานด้านวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเกี่ยวกับลักษณะของคนไทยในสหรัฐฯมาก่อน

ความเห็นต่อไปนี้จึงเป็นข้อสังเกตถึงลักษณะ(สาระนิยาม) ของคนไทยในสหรัฐฯ โดยรวมว่ามี ลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการสังเกตเชิงประจักษ์ ตามแนวทางประจักษ์นิยม

1.จำนวนคนไทยในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถระบุจำนวนอย่างแน่นอนได้ มีผลสำรวจอย่าง เป็นทางการของฝ่ายสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Census ซึ่งแจ้งผลการสำรวจทุกๆ 10 ปี เช่น ผลจากการสำรวจคนไทยในอเมริกาปี 2010 ปรากฎว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 237,629 คน เพิ่มขึ้น 58.0831 เปอร์เซ็นต์จากผลสำรวจประชากรเมื่อปี 2000 ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น มีตัวเลขคนไทยในสหรัฐฯเพียง 150,319 คน รัฐที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด 10 อันดับได้แก่ 1.แคลิฟอร์เนีย 67,707 คน, 2. เท็กซัส 16,472 คน, 3. ฟลอริดา 15,333 คน, 4. นิวยอร์ค 11,763 คน, 5. อิลลินอยส์ 9,800 คน, 6. วอชิงตัน 9,699 คน, 7. เวอร์จิเนีย 9,170 คน, 8. เนวาด้า 7,783 คน, 9. แมรีแลนด์ 5,513 คน และ 10. จอร์เจีย 5,168 คน ซึ่งก็เป็นไปตามความเห็นของนาย นายกสนิกันติ์ คุณกำจร นายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ ว่า แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของคนไทยในอเมริกาจะสูงขึ้นมาก แต่ถ้าดูตัวเลขรวมแล้ว ก็ยังเชื่อว่าน้อยกว่าตัวเลขที่เป็นจริงอยู่ดี อาจจะมีคนไทยในสหรัฐฯราว 400,000 คน ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ผลสำรวจประชากรบอกว่ามีคนไทย 60,000 กว่าคน จึงน่าจะน้อยกว่าตัวเลขจริงอยู่มาก จึงมีความเป็นไปได้มากว่าจำนวนตัวเลข คนไทยจริงๆแล้วต้องเป็นแสนคนขึ้นไป

สาเหตุที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการน้อยกว่าตัวเลขจริง น่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ หนึ่ง คนไทย กระจายกันอยู่ในภูมิภาคต่างๆของสหรัฐฯทำให้ยากต่อการสำรวจและรวบรวมข้อมูล กับ สอง คือ คนไทย ที่ทำที่มาประกอบอาชีพต่างๆนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ข้อมูลได้ เพราะเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จึงมีความกลัวต่อการให้ข้อมูลกับองค์กร Census (ว่าที่จริงแล้วองค์กรสำรวจประชากรองค์กรนี้ ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นคนละส่วนกับหน่วยงานอเมริกันที่ดูแลด้านต่างด้าวหรือ Department of Homeland Security หน่วยงานนี้จะไม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลการสำรวจประชากรต่อ DHS แต่กระนั้นก็มีคนไทย เข้าใจผิด อยู่มาก จึงไม่ให้ความร่วมมือในการสำรวจจำนวนประชากรของ Census

ศูนย์กลางของคนไทยในสหรัฐฯ เป็นที่รู้กันว่า คือ เมืองลอสแองเจลิส(แอล.เอ.) แคลิฟอร์เนีย ด้วย เหตุที่เป็นเขตที่มีคนไทยอาศัยอยู่หนาแน่นและจำนวนมากที่สุดมากกว่าพื้นใดๆ แม้กระทั่งในอื่นของ รัฐแคลิฟอร์เนียด้วยกัน ดังนั้น ถ้าจะมองกันถึง “เชิงลักษณะความคิด” ของคนไทยในสหรัฐฯ คนไทยใน พื้นที่แอล.เอ. จึงน่าจะพอหยิบยกเป็นตัวอย่างได้แม้ลักษณะความคิดดังกล่าวจะไม่เหมือนกันไปเสีย ทั้งหมดทุกพื้นที่ก็ตาม แต่เชื่อว่า “ฐานความคิด”ของคนไทยทั้งหมดในสหรัฐฯไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ซึ่งก็มีข้อแม้หรือข้อยกเว้นอยู่ว่า คำว่าคนไทยในอเมริกานั้นย่อมต้องจำกัดความไว้เพียงคนไทยที่มาจาก เมืองไทยไม่ใช่ลูกหลานคนไทยที่เกิดในสหรัฐฯและกลายเป็นพลเมืองอเมริกันไปแล้ว โดยผลในประการหลัง ทำให้ลูกหลานหรือเยาวชนไทยในสหรัฐฯสนใจความเป็นไปของเมืองไทยน้อยลงไปด้วย ถ้าหากพวกเขา สนใจเมืองไทย เช่น สนใจการเมืองไทย สนใจวัฒนธรรมไทย มักเป็นไปโดยการกล่อมเกลา และการบังคับ จากพ่อแม่ผู้ปกครองคนไทยที่ย้ายตัวเองไปจากเมืองไทย

การกล่อมเกลา หมายถึงการพยายามฝังหัววัฒนธรรมไทยต่อเด็กและเยาวชนลูกหลานไทย เช่น การส่งไปเรียนภาษาไทย การพาเข้าไปวัดไทย ส่วนการบังคับ หมายถึง การบังคับให้เด็กและเยาวชน ลูกหลานไทยเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เช่น บังคับให้พูดไทยในบ้าน บังคับให้ไปวัดไทย บังคับให้ต้องแสดงความ เคารพผู้ใหญ่ตามแบบอย่างมารยาท(วัฒนธรรม)ไทย ซึ่งผมเชื่อว่าหากมีการประเมินผลในขั้นปลายสุดแล้ว การกล่อมเกลาและการบังคับไม่น่าจะได้ผลในส่วนที่เป็นคุณูปการต่อสังคมไทยทั้งในสหรัฐฯและในเมือง ไทย อาจได้ผลบ้างในส่วนของปัจเจกหรือของครอบครัว แต่กระนั้นผลของวิธีการทั้ง 2 แบบก็ไม่ได้ก่อให้เกิด การขยายตัวของวัฒนธรรมไทยในสหรัฐฯแต่อย่างใด ภาพที่เห็นจึงเป็นการสนองความต้องการ(ตัณหา) ของผู้ใหญ่(ผู้ปกครองเด็กและเยาวชน)คนไทยที่ย้ายตัวเองมาอยู่สหรัฐฯมากกว่าอย่างอื่น เพราะผู้ใหญ่ เหล่านี้มีแรงเก็บกดทางด้านศีลธรรม (เช่น ศีลธรรมเชิงพุทธ)และวัฒนธรรม(เช่น มารยาทไทย) อย่าง ล้นหลามมาจากเมืองไทย และต้องการระบายถ่ายทอดสู่ความคิดของเด็กเยาวชนที่เป็นลูกหลานของตนเอง

2.จากข้อ 1. นำไปสู่การปฏิบัติในประเด็นด้าน “ธุรกิจวัฒนธรรมไทย” เพื่อสนองเจตนารมณ์ “กล่อมเกลาและบังคับ” ของผู้ปกครองเด็กและเยาวชน คนที่ประกอบอาชีพธุรกิจวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีตั้งแต่ ฝ่ายเอกชนไทยและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย (เช่น สถานกงสุล สถานทูต สายการบินของไทย) ในสหรัฐฯเข้า ใจดีถึงเจตนารมณ์ทำนองนี้จึงดำเนินกิจกรรมแคมป์เยาวชนสัญจรเมืองไทย ท่องเที่ยวไทยขึ้น ที่จริงแล้ว มันเป็นการสนองความอยากของผู้ปกครองคนไทยในสหรัฐฯมากกว่าความอยากรู้เรื่องเมืองไทย ของเด็ก และเยาวชนเชิงปัจเจก หรือมาจากฐานความต้องการอยากรู้อยากเห็นเมืองไทยของเด็ก และเยาวชนจากตัวของพวกเขาเอง ส่วนผลที่คาดหวังกันตามที่โฆษณาไปนั้น ในความเป็นจริงคือ แทบไม่ได้อะไรเลย จากกิจกรรมสัญจรเมืองไทยที่ว่านี้ นอกเสียจากการได้หน้าของผู้จัดเพียงแค่ไม่กี่คน รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนซึ่งเป็นแบรนด์สินค้า

3.คนไทยในวัยผู้ใหญ่ ที่ย้ายตัวเองมาจากเมืองไทยส่วนมาก สนใจกิจกรรมรำลึกความหลัง มากกว่านวัตกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งนวัตกรรมของคนกลุ่มนี้ คือ ประวัติศาสตร์ของเมืองไทยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วที่พวกเขาได้รับการกล่อมเกลาไปจากเมืองไทยเมื่อสมัยเรียนหนังสือตามแบบเรียนในชั้นประถม ชั้นมัธยม หรือแม้กระทั่งการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ กึ่งเผด็จการหรือ ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ถูกฝังหัวไปด้วยระเบียบและความคิดแบบหน้าที่พลเมือง ศีลธรรมเชิงพุทธที่รัฐ ไทยพยายามยัดเยียดให้(เช่น ระบบศีลธรรมในแบบเรียน ) การอยู่ในประเทศสหรัฐฯ พวกเขามีหน้าที่สำคัญ คือ ทำมาหากิน แบกภาระชีวิตรายวัน (ไปเช้า-เย็นกลับ) ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้เรียนรู้และซึมซับ กระบวนการ ความคิดและวิถีประชาธิปไตยในรูปแบบวัฒนธรรมอเมริกันด้วยเสมอไป ดังนั้นความคิดต่อ วิธีการและรูปแบบทางการเมืองของพวกเขาจึงหยุดอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ไทย 30-40 ปีก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับความคิดและกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม นั่นคือ ทัศนคติการเมืองแบบคนดีปกครองประเทศ หาใช่รูปแบบประชาธิปไตย ส่งผลต่อกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยของพวกเขา เช่น การบริจาคเงินให้กับกลุ่มการเมืองบางเสื้อสีโดยข้ออ้างเพื่อนำไปใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง ที่มาเปิดรับบริจาคถึงสหรัฐฯและการรับบริจาคดังกล่าวเป็นไปในรูปแบบที่ผิดกฎหมายอเมริกัน (ตอนนี้กลุ่มเสื้อสีที่ว่าได้ปิดตัวเองไปแล้ว)

4. ขณะเดียวกันคนไทยในวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ยังมีความเป็นชนชั้นวรรณะสูง พิทักษ์ระบบ อุปถัมภ์และอมาตยาธิปไตยมากกว่าคนไทยในเมืองไทยด้วยซ้ำ ดูได้จากกิจกรรมที่พวกเขาจัด เช่น การจัดงานการกุศลเพื่อหาเงินสนับสนุนองค์กรของรัฐหรือองค์กรกระแสหลักในเมืองไทย(ที่มีฐานการสนับสนุนที่มั่นคงอยู่แล้ว) โดยหวังถึงผลได้ เช่น เหรียญตรา ประกาศ เครื่องเชิดชูเกียรติจากเมืองไทย มีการแข่งขัน กันอย่างออกหน้าออกตาระหว่างสมาคมคนไทยต่างๆ มีการใช้ตัวกลางคือ คนของรัฐไทย เช่น กงสุลใหญ่ หรือทูตไทยเป็นตัวชูโรง ที่สำคัญคือ เวลามีการจัดกิจกรรมทำนองนี้ส่วนใหญ่ฝ่ายอเมริกันหรือ ตัวแทนฝ่ายอเมริกันไม่ค่อยมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากนัก กิจกรรมจึงเป็นไปในลักษณะ “คนไทยกับคนไทย” มากกว่า “คนไทยร่วมกับอเมริกัน”ทำให้การจัดตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไร(Nonprofit organization) เพื่อ คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพจริง แต่จัดตั้งเพื่อหน้าตาของผู้นำองค์กรบางคนมากกว่า หรือตั้งองค์กร ไว้เพื่อดักจับแมลงเม่า(คนที่มีเงินทุน) จากเมืองไทยที่พลัดหลงเข้าไปสหรัฐฯ ทั้งที่จัดการให้ฝ่ายอเมริกัน ซึ่งเป็นสังคมที่ใหญ่กว่าได้ร่วมกิจกรรมด้วยนั้นจะมีคุณูปการต่อชุมชนไทยในสหรัฐฯมากกว่า

5. การยังคงยอมรับรัฐไทยเป็นเจ้านายสูงสุดหรืออีกนัยหนึ่งคือ การอวยรัฐไทยของคนไทยวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จากลักษณะของผลประโยชน์ร่วมหรือผลประโยชน์สมยอมระหว่างฝ่ายรัฐไทยกับ ฝ่ายคน ไทยในสหรัฐซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่คือ ประเด็นที่หนึ่ง โครงการของรัฐไทยที่เอื้อประโยชน์ต่อคนไทย บางคนบางกลุ่มในสหรัฐฯ เช่น โครงการเงินกู้ของแบงก์ไทยสำหรับประกอบกิจการร้านอาหารไทย (ซึ่งสุดท้ายก็ ประสบความล้มเหลว) โครงการ Cooking school (ไม่มีการประเมินผล ซึ่งก็ล้มเหลว เช่นเดียวกัน) โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก (ท้ายที่สุดก็เงียบ ไม่ต่อเนื่องและไม่มีการประเมินผลเช่นกัน) โครงการเหล่านี้ ให้ผลประโยชน์กับคนไทยเพียงบางกลุ่มที่ถือตนว่ามีรัฐไทยเป็นเจ้านาย แต่ไม่กระจายผลประโยชน์ให้ถึงคนไทยในสหรัฐฯอย่างยุติธรรม

ประเด็นที่สอง คือ บ่วงล่อรางวัลเชิดชูเกียรติจากฝ่ายรัฐไทยที่โยงถึง 2 ส่วน คือ ส่วนของการเป็น เอเย่นซี(Agency)ขายศิลปวัฒนธรรมไทยในเชิงการผูกขาดศิลปวัฒนธรรมไทยของคนไทยบางคนบางกลุ่ม เพราะว่ากันตามจริงแล้ววัฒนธรรมไทยในสหรัฐฯไม่ต่างจากโชว์ประเภทหนึ่ง เพียงแต่เอเยนซีเหล่านี้ เป็นตัวแทนขายของรัฐไทย แม้แต่ในหัวของเด็กเยาวชนไทย ภาพของศิลปวัฒนธรรมไทยก็คือโชว์ประเภท หนึ่ง ไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึง “ความรักชาติ(ไทย-ของเยาวชนไทย)ในอเมริกา” ที่พยายามส่งเสริม กันอย่างไรได้เลย ซึ่งส่งผลต่ออีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การวุ่นอยู่กับตัวเอง แบ่งแยกแข่งขันกันเองในชุมชนไทยของกลุ่มผู้ใหญ่คนไทยวัยผู้ใหญ่เหล่านี้ โดยไม่สนใจว่ากระบวนทัศน์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอยู่ในขั้นไหนแล้ว
จะพูดไปไยถึงการยกระดับกระบวนทัศน์(Paradigm shift)ที่เป็นประเด็นต่อเนื่องด้วยเล่า.

ใส่ความเห็น

กระบวนทัศน์ใหม่ด้านการศึกษา&การทำงานของอเมริกัน

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ผมไม่ได้ไปเยือนซิลิคอนวัลเล่ย์ และซานฟรานซิสโก (รัฐแคลิฟอร์เนียตอนบน)นานพอสมควร ก็น่าจะราว 3 ปี เมื่อก่อนเคยอาศัยอยู่ย่านเมืองซานโฮเซ่ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าซานฟานซิสโกและเบย์แอเรีย เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ แบรนด์อะไรๆ ที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียล้วนมาจากถิ่นนี้ทั้งนั้นเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรืออื่นๆอีกหลายยี่ห้อ รวมทั้งที่เรารู้กันดี คือ เสิร์ช เอ็นจิ้น yahoo และโดยเฉพาะ google

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเจอกับนักเรียนไทยคนหนึ่ง คือ คุณเพชร วรรณิสสร ซึ่งเพิ่งผ่านศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon (CMU)ในสาขาการจัดการด้านซอฟ์แวร์ โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาเปิดสาขา(campus) อยู่ที่ Moffett Field เมือง Mountain View เขตซิลิคอนวัลเลย์ ทั้งบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ NASA อีกด้วย

ก่อนหน้านั้น คุณเพชรยังคว้าปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิสหรือ UCLA ด้วยอีกใบหนึ่ง ขณะที่ก่อนหน้านั้นอีก เขาจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์ อาร์เบอร์ ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รวมระยะเวลาของการอยู่ในอเมริกาประมาณ 7 ปี

จากการได้คุยกับนักศึกษาไทยอย่างคุณเพชร ทำให้ทราบเรื่องราวอย่างน้อย 2 เรื่องใหญ่ๆครับ

เรื่องแรก คือ เรื่องระบบการศึกษา หรือพูดให้เป็นภาษาทางการหน่อยจะได้ว่า “กระบวนทัศน์ ทางด้านการศึกษาของอเมริกัน” หมายถึง ระบบการศึกษาของอเมริกัน ที่กำลังเป็นอยู่และแนวโน้มที่ จะเป็นในอนาคต คุณเพชรได้ฉายเห็นว่าในฐานะของรุ่นใหม่เขามองหรือมีทัศนะต่อเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องที่สอง คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม, Technology Creation หรือการสร้างสรรด้าน เทคโนโลยีของอเมริกันในเชิงการเรียนการสอนและการทำงานว่าเป็นอย่างไร มีวิธีการทำเช่นไร

ทั้ง 2 เรื่องทำให้ผมหวลนึกไปถึงคำพูดของ อดัม เคิล เรื่อง “การศึกษาเพื่อความเป็นอัตลักษณ์” เขาบอกว่า การศึกษาที่ดีไม่ควรไปรับใช้ระบบ แต่ต้องเพื่อบ่มเพาะจิตใจละสติปัญญาของมนุษย์ ให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ และให้มนุษย์เป็นอิสระชน แนวโน้มหรือ trend ของการศึกษาและการทำงานในอเมริกากำลังเดินทาง ไปสู่เป้าหมายตามที่ อดัม เคิล ว่าไว้หรือเปล่า?

ผมจะประเมินเรื่องนี้จากคุณเพชร ซึ่งกำลังเดินเข้าไปทำงานยังบริษัททวิตเตอร์ในซานฟรานซิสโก

ตอนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างผมกับคุณเพชร คุณเพชรมีความเห็นในเรื่องการศึกษาของอเมริกันอย่างนี้ครับว่า

“ระบบการเรียนการสอนของอเมริกันเน้นการเรียนรู้เป็นหลัก โดยดูจากสัมฤทธิผลของการเรียน (performance) เน้นการทำงานมากกว่าการสอบ มีการทำโปรเจคท์มากกว่าการเรียนในห้องเรียน คืออาจารย์ผู้สอนจะไม่มีการชี้นิ้วว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ให้เราต้องทำด้วยตัวเองเป็นหลัก เราต้องเป็นผู้นำของตัวเองโปรเจคท์จะมีการกำหนดเดทไลน์มาให้ แล้วก็จะเน้นความซื่อสัตย์อย่างมาก จากความเชื่อที่ว่า นักศึกษาจะไม่โกง ทำให้เรารู้จักซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เป็นการปล่อยให้เราทำอะไรอย่าง อิสระ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ”

เมื่อถามถึงการให้ผู้เรียนเป็นผู้นำตัวเอง

“คอร์สการเรียนของที่นี่ เน้นการเรียนรู้ ให้นักศึกษากำหนดมาเลยว่า ต้องการทำโครงการ(project) อะไร และไม่จำเป็นว่า โปรเจคท์ต้องเหมือนกับคนอื่น แล้วกลับมาบอกอาจารย์ว่าต้องการศึกษาเรื่องอะไร เกิดปัญหาอะไรขึ้น เมื่อมีปัญหาอาจารย์กับนักศึกษาก็จะช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีที่ถูกต้องในการแก้ไข ปัญหาไม่ได้มีวิธีเดียวแต่ อาจมีหลายวิธีก็ต้องเอามาถกกันในชั้นเรียน วิธีการแก้ปัญหาต่างกันแต่ได้ผลลัพธ์ เหมือนกันก็ไม่เป็นไร การลองผิดลองถูกเป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนที่นี่”

คุณเพชรเล่าถึงบรรยากาศการเรีเพชรยนการสอนในห้องเรียนที่ซิลิคอนวัลเลย์ (ซึ่งคงคล้ายกันในแทบ ทุกสถาบันการศึกษาในอเมริกา)ว่า อาจารย์อเมริกันจะไม่สอนแบบการถ่ายทอดความรู้ฝ่ายเดียว แต่จะมีบรรยากาศของการสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ยกเว้นการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งอาจารย์มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาบ้าง(lecture) แต่ในชั้นเรียนดังกล่าวก็มีการ ซักถามอาจารย์ผู้สอนจากผู้เรียนอย่างมากเช่นกัน นักศึกษาสามารถยกมือท้วงติงอาจารย์ได้หากเห็นว่า อาจารย์นำเสนอความรู้ไม่ถูกต้อง โดยการการแสดงเหตุผลว่า ทำไมถึงแย้งอาจารย์ อาจารย์ก็ต้องหยุดฟัง ว่าผู้เรียนแย้งว่าอย่างไร มีเหตุผลการแย้งเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น การเรียนการสอนในอเมริกา อาจารย์จึงไม่ใช่เป็นผู้พูดเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ผู้เรียนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามได้ตลอดเวลา

ประเด็นเดียวกันนี้ คุณเพชรบอกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเรียนการสอนของเมืองไทยใน ปัจจุบันแล้ว การเรียนการสอนในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยของไทยเหมือน “ผู้ใหญ่สอนเด็ก” ไม่ค่อยเปิดโอกาสผู้เรียนคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ หากควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดโครงการ(project) ด้วยตัวของผู้เรียนเอง ให้อิสระกับตัวผู้เรียน และทุกโครงการไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ปัญหาของการศึกษา ไทยอย่างหนึ่ง คือ เราต้องการให้มีผลผลิตออกมาเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น

ความรู้ในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้นผู้สอนจึง ควรฝึกผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ให้มากที่สุด จะเห็นได้ว่าความรู้เป็นไปในลักษณะ “ความรู้เก่ายังอยู่ แต่ความรู้ใหม่มาแล้ว” ยิ่งความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ด้วยแล้ว นับว่าวิ่งเร็วมาก เราต้องตามให้ทันและเรียนรู้นวัตกรรมและต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่าง Base on Technology อย่างเช่น โซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการสื่อสารในสังคมปัจจุบัน

ในความเป็นซิลิคอนวัลเลย์นั้น เนื้อหาสาระของศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศเวลานี้ คุณเพชรบอกว่า ผู้คนในซิลิคอนวัลย์กำลังอยู่ในช่วงของการให้ความสนใจและพัฒนานวัตกรรมเชิงข้อมูล 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง คือ โซเชียลมีเดีย(social media) ประเภทที่สอง คือ ระบบอุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile) และประเภทที่สาม คือ ระบบข้อมูลขนาดใหญ่(Huge data) โดยฉพาะในประเภทที่สาม นับว่ามีความน่าสนใจมาก เพราะหมายถึงการการจัดการเชิงข้อมูลในระดับต่างๆ รวมถึงระดับโลก ซึ่งตอนนี้อเมริกันเป็นฝ่ายดูแลและจัดการข้อมูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด

ส่วนแนวโน้ม(trend) หรือกระแสการเคลื่อนย้ายแรงงานในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ คุณเพชรมองว่า ขณะนี้กระแสความต้องการทำงานของผู้คนแถวซิลิคอนวัลเลย์ พวกเขาต้องการทำงานอย่างเป็นอิสระมากขึ้น คือ ไม่ต้องการไปทำงานขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ แต่ต้องการทำโปรเจคท์เองตนหรือกลุ่มของตน เช่น จะมีการรวมกลุ่มกันประมาณ 2-3 คน คิดและทำโครงการเอง หาเงินทำโครงการเอง

“ปัญหาของซิลิคอนวัลย์ส่วนหนึ่งในขณะนี้ก็คือ มีคนคิดโครงการได้หลายโครงการ แต่บุคลากรด้านนี้มีไม่เพียงพอกับความต้องการ(ที่จะเข้าไปทำโครงการ)”
นักเรียนไทยซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจาก CMU บอกว่า ตอนนี้หากเปรียบเทียบกระบวนทัศน์ด้านการศึกษาและด้านเทคโนโลยีระหว่างอเมริกากับไทย คงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ กว่าเมืองไทยจะเป็นอย่างที่อเมริกาเป็นในปัจจุบันคงใช้เวลานานมาก

“ลักษณะที่สำคัญของอเมริกัน คือ คนอเมริกันชอบคิดใหญ่ ไม่ชอบคิดเล็ก แต่คนไทยชอบคิดเล็ก คนอเมริกันคิดแบบไม่กลัวความล้มเหลว แต่คนไทยกลัวความล้มเหลว จึงไม่กล้าคิดใหญ่ เห็นได้จากการคิดโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เวลาคิด เขาคิดใหญ่ระดับโลกทำให้คนใช้ทั่วโลก ซึ่งวัฒนธรรมการคิดแบบนี้คนไทยไม่มี คนอเมริกันเวลาคิด เขาคิดเพื่อให้เป็นผลงานที่ใหญ่เพื่อคนรุ่นหลัง(legacy) ทำอย่างไรทำให้คนอื่นได้ใช้ด้วย แต่ของคนไทยเราคิดเพียงแค่ เฉพาะหน้าใช้เฉพาะตนและกลุ่มของตนเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็ยังพะวงอยู่กับความมั่นคงด้านหน้าที่การงาน และเงินเดือน จึงไม่มีพลังในการสร้างสรรค์สิ่ง ใหม่ในระดับโลกได้”

กระบวนทัศน์ของคนอเมริกัน ในซิลิคอนวัลเลย์ หรืออีกหลายที่ในอเมริกา ก้าวไปถึงขั้นที่ว่า การคิดนวัตกรรม ต่างๆ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องเงินหรือธุรกิจอันดับแรก แต่เขาคิดบนฐานความมีประโยชน์ (contribute)ต่อโลก เน้นไปที่ความพอใจ(passion) ในประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ส่วนเงินหรือผลได้ทางธุรกิจจะเป็นเรื่องที่ตามมาภายหลัง ขณะที่คนไทยคิดตรงกันข้ามมองแค่ในเรื่องราวหรือหน้าที่เฉพาะในกรอบของตัวเอง มองในเรื่องการเข้าไปเป็นลูกจ้างและเงินเดือน

คุณเพชร ยังมองด้วยว่า คนไทยเสพติดและฝักใฝ่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารมากไป ต่างจากคนอเมริกันที่มองการใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติ ผู้บริโภคเทคโนโลยีอเมริกันส่วนใหญ่ไม่มีพยายามเพื่อครอบครองเทคโนโลยีใหม่แบบไล่ล่าหรือเพื่อโชว์ว่าตัวเองนำสมัย แต่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานและการติดต่อสื่อสารตามความจำเป็นเท่านั้น

ครับ นี่คือ ตรงจากซิลิคอนวัลเลย์ ดินแดนที่ผมเคยฝังตัวอย่างน้อยๆ ก็ประมาณ 2 ปี

ผมยังคุยกับคุณเพชรอีกเยอะ เอาไว้เล่าสู่กันฟังในคราวหน้าก็แล้วกันครับ

1 ความเห็น

แผนที่ใหม่นาซา : อีก 20 ปีกรุงเทพ…เมืองบาดาล

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ท่ามกลางการรณรงค์คัดค้านและรณรงค์เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใน เขตภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนของเมืองไทยในขณะนี้นั้น พื้นอื่นของเมืองไทยที่สัมพันธ์กับพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะในเขตภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพด้วยเลยไม่ค่อยมีใครพูดถึงbangkok_flood_storm

นั่นหลังจากที่ความรู้สึกหวาดผวาในเรื่องภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติ “น้ำท่วม”ในปี 2554 เริ่มซาลง ไป เหลือไว้เพียงความหวาดกลัวรายปีจนกลายเป็นความปกติของความกลัวไป โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่ได้รับผลกระทบประจำทุกปี อย่างเช่น พื้นที่อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพื้นที่ ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี

เมื่อมีการพูดถึงผลกระทบของเขื่อนแม่วงก์ แต่ไม่มีการพูดถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กระทั่งปัญหา น้ำทะเลหนุน น้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกันในส่วนของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่สำคัญ โครงการบริหารจัดการน้ำของเมืองไทย ไม่ได้มองเชื่อมโยงถึงระบบผังเมือง โครงการก่อสร้าง และโครงการระบบขนส่งมวลชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า รางรถไฟคู่ขนานหรือโครงการรถไฟความเร็วสูงBangkok_River

ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำอย่างไร คำตอบก็คือ หากกรุงเทพและพื้นที่ปริมณฑล เกิดมีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและเรื้อรัง จะมิกลายเป็นว่าเมกกะโปรเจคท์เหล่านี้ เป็นการลงทุนที่เสียเปล่า ไปดอกหรือ?

เมื่อไม่นานมานี้ที่องค์การบริหารอวกาศและการบินของสหรัฐ(NASA) ได้แสดงให้เห็นว่าบริเวณใด บ้างของโลกจะมีปัญหาน้ำทะเลท่วมในอนาคตอีกประมาณ 20 ปี โดยโครงการวิจัย Water Level Elevation Map (Beta)ของนาซาได้ทำสำเร็จลงแล้ว (ดูประกอบ : งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัย Hawaii Manoa พยากรณ์น้ำจะท่วมในแถบประเทศเขตร้อน – tropical zone หลายประเทศ บางประเทศสถานการณ์อาจมาถึงเร็วแค่ปี 2020
http://www.pbs.org/newshour/rundown/2013/10/the-new-climate-normal-coming-soon-to-a-city-near-you.html)

ความหมายก็คือ องค์การนาซา ได้เปลี่ยนแผนที่โลกเสียใหม่ ภายหลังการคาดคะเนการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลบริเวณต่างๆของโลก

ข้อมูลของนาซ่าระบุว่า ในทุกๆปีจะมีคนมากกว่า 520 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหา น้ำท่วม มีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 25,000 คนต่อปี นอกเหนือจากความเสียหายด้านทรัพย์สินอื่นที่เกิดขึ้นกับ ผู้ประสบชะตากรรม โดยประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด ในอัตราส่วน ประมาณกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมทั่วโลก สูญเสียมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ มากกว่า 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

United Nations University (UNU) ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1973 มีสำนักงานใหญ่ที่โตเกียว มองว่าการเพิ่มของผลกระทบที่เลวร้ายของปัญหาน้ำท่วมเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำ น้ำแข็งละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกับสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ การตัดไม้ทำลาย ป่าที่อยู่ทั่วโลก เพราะป่าไม้เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งในการช่วยสกัดหรือผ่อนปรนไม่ให้ปัญหาน้ำท่วมมีความรุนแรง

ดร. Janos Bogardi ผอ.สถาบัน UNU-EHS บอกว่า เวลานี้แต่ละประเทศต้องเพิ่มการคำนวณค่าความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมในการทำโครงการระดับนโยบายต่างๆเข้าไปด้วย รวมถึงการกำหนด มาตรการและเครื่องมือในการเตรียมการป้องกันอุทกภัย เช่น ระบบการเตือนภัย ระบบการช่วยเหลือ รวมถึงระบบการประมวลข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ป้องกันและช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที นอกเหนือไป จากการที่หน่วยงานระดับนานาชาติอย่างเช่น องค์การสหประชาชาติ ต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึก สากล (international mindset) ซึ่งหมายถึงการเกิดจิตสำนึกในเรื่องอุทกภัยอย่างพร้อมเพรียงกันหลาย ประเทศไม่ใช่แค่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

ในส่วนของประเทศไทยเอง (ตามแผนที่ฉบับใหม่ของนาซา ซึ่งเป็นที่รู้กันในบรรดานักซอฟท์แวร์ ที่ทำงานเชื่อมโยงกับข่ายดาวเทียมของนาซ่า รวมถึงผู้คนที่สนใจปัญหาโลกร้อน แถวซิลิคอนวัลเลย์และซานฟรานซิสโก) กรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงอีกหมายเมืองใกล้เคียงบางส่วนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนมาก อย่างเช่น อยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จะจมอยู่ใต้น้ำ และแผนที่ใหม่ของนาซ่าฉบับเดียวกันนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นผลของการพยากรณ์ด้านสมุทรศาสตร์และด้านธรรมชาติอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงประมาณภายในสองทศวรรษหลังจากนี้

สิ่งที่ทำให้เกิดอาการช๊อคจากแผนที่ฉบับใหม่ของนาซ่า ก็คือ จะไม่เหลือเมืองกรุงเทพและปริมณฑลไว้ในแผนที่ bangkok-flood-threat

ขณะที่ฝ่ายประเทศไทยแทบไม่ใส่ใจถึงปัญหาการยุบตัวของดินตะกอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อนกันกันเลย หลังจากที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดในปี 2554 แล้วสถานการณ์และความตื่นตัวก็ลดระดับความสนใจปัญหาด้านนนี้ลง ไม่มีการทำงานด้านการวิจัย และการจัดการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในอ่าวไทย หรือการสร้างเขื่อนตามแนวชายฝั่ง ไล่ตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการไปจนถึงจังหวัดชายทะเลอย่างสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

รัฐบาลไทยยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เหนือกรุงเทพและปริมณฑล โดยไม่มีการบริหารจัดการด้านสมุทรศาสตร์คู่ขนานกันไป ซึ่งหากไม่มีการวางแผนจัดการปัญหาด้าน สมุทรศาสตร์ในเชิงของการป้องกัน ก็เป็นไปได้ว่าคำพยากรณ์บนแผนที่ฉบับใหม่ (กรุงเทพ) ของนาซ่าในส่วนประเทศไทยจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา ไม่ต้องพิสูจน์กันนาน เพียงแค่ราว 20 ปีก็รู้ผลว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งพื้นที่น้ำอาจไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพและปริมณฑล แต่จะเหลืออะไรในเมื่อ พื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่แฉะ มีน้ำท่วมขังตลอดไป

และจะมีประโยชน์อะไรกับหลายโครงการเมกกะโปรเจคท์ของรัฐและหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน ที่ต้องอาศัยระยะเวลาการคืนทุนในช่วงหลายปี

ทั้งจะมีประโยชน์อะไรกับ การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญๆของกรุงเทพและปริมณฑล
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกเอาปัญหานี้ มาคุยกันอย่างจริงจังมากเท่าใดนัก อย่างน้อยก็ไม่มากเท่าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่เหนือกรุงเทพไล่ตั้งแต่ พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เรายังขาดการบริหารจัดการในส่วนที่สุดของปลายน้ำ ซึ่งก็คือทะเลหรือมหาสมุทร ซึ่งจะเป็นตัวการสำคัญบ่งชี้ชะตากรรมของคนในเขตพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล และบางจังหวัดใกล้เคียง

อย่างน้อย หากยอมแพ้ ไม่แก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมุทรศาสตร์ คือ ปล่อยให้เป็นไปตาม ธรรมชาติ ไม่มีการด้านการวิจัยและด้านการลงทุนโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เราก็น่าจะคิดถึงเรื่องการย้าย เมืองหลวงและเมืองสำคัญๆกันได้ก่อนที่เหตุการณ์ภัยพิบัติจากน้ำท่วมจะเกิดขึ้น…หรือไม่???

ในสหรัฐฯเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม และผังเมืองในหลายเมืองที่ตั้งอยู่ บนฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกได้เตรียมตัวป้องกันปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแล้ว โดยอาศัยฐานข้อมูลดาวเทียมจากการคาดการณ์ของนาซ่า ซึ่งไม่เพียงมองจากมุมของสมุทรศาสตร์เพียง อย่างเดียวหากแต่มีมุมการสำรวจและวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาผ่านระบบดาวเทียมขององค์การนาซ่าด้วย

เหมือนกับการทำแผนที่โลกใหม่ของนาซ่าในทุกมุมของโลกก็อาศัยการสำรวจและวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาเช่นกัน เช่น การเคลื่อนย้ายของเปลือกโลก ความชื้นของชั้นดิน การยุบตัวของดินในบางพื้นที่ เป็นต้น

แผนที่โลกใหม่ของนาซ่า โดยเฉพาะเมืองบาดาลกรุงเทพ ไม่ได้บอกให้พวกเรากลัวโดยไม่ลงมือทำอะไร แต่มันน่าจะบอกให้พวกเราเตรียมตัวลงมือทำอะไรสักอย่าง.

ใส่ความเห็น