กรุสำหรับ มกราคม, 2013

สถาบันการเงินกับชุมชน

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ptipitaka@yahoo.com
ดูเหมือนสถาบันการเงินของอเมริกันจะห่างเหินกับชุมชนท้องถิ่น(local community) ภายใต้กระแสทุนนิยมจัดจ้าน แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ และบริษัทการเงินต่างๆ หามีลักษณะเป็นดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ด้วยเหตุที่ในอเมริกาเองมีสถาบันการเงินของท้องถิ่น เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ด้านธุรกรรมสำหรับคนท้องถิ่นเอง เข้าทำนองคนในท้องถิ่นนั้นๆ รู้ปัญหาของคนในท้องถิ่นนั้นๆดีกว่าคนท้องถิ่นอื่น
สถาบันการเงินที่เห็นได้ชัด คือ แบงก์เหล่านี้ ให้บริการแต่ละเมือง แต่ละรัฐ ดังปรากฏว่าก่อนหน้านี้มีการรวมกลุ่มกันของคนเอเชีย ในลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา จัดตั้งแบงก์ขึ้นมาตามกฎหมายของรัฐเดียวกันนี้ โดยเน้นการทำธุรกรรมให้กับประชาชนในเนวาดา โดยเฉพาะเมืองลาสเวกัส
การให้โอกาสในการเกิดขึ้นของแบงก์ท้องถิ่นดังกล่าว ทำให้การประชาชนหรือนักลงทุนมีทางเลือกในการใช้บริการการเงินผ่านธนาคารมากขึ้น สินเชื่อหรือธุรกรรมที่ต้องดำเนินการผ่านแบงก์ไม่ได้ถูกจำกัด อยู่เพียงธนาคารขนาดใหญ่อย่างเช่น Bank of America หรือ Wells Fargo หากแต่ยังมีธนาคารท้องถิ่นให้ประชาชนได้เลือกในเชิงการแข่งขันnevada state bank logo
เรียกว่า แบงก์ใหญ่ ก็มีแรงกดดันจากการแข่งขันกับแบงก์ท้องถิ่นเช่นเดียวกัน อาศัยที่แบงก์ท้องถิ่นมีขนาดเล็ก จึงมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการค่อนข้างสูง ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นให้เงื่อนไขผ่อนปรนเชิงการทำธุรกรรม (แต่ต้องเป็นไปตามกติกาหรือกฎหมายของรัฐซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายของรัฐบาลกลาง เช่น เรื่องทุนสำรอง เป็นต้น) ทำให้ แบงก์ขนาดย่อมเหล่านี้ สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ และทำให้ธุรกรรมการเงินไม่ได้ถูกกินรวบโดยแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ
ขณะที่แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่เหล่านี้เอง เมื่อมาดำเนินกิจการในรัฐต่างๆ ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขหรือกติกาของแต่รัฐนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น , ความผิดพลาดครั้งที่ผ่านมา ที่ก่อให้เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ สาเหตุจึงไม่ได้มาจากกฎกติกาของแบงก์ในแต่ละรัฐ แต่มาจากความหละหลวมเชิงการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะที่ผ่านสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ส่วนแบงก์ขนาดย่อมนั้นได้รับผลกระทบน้อย สามารถเลี่ยงออกไปจากปัญหาระดับชาตินี้ได้ เช่น ในรัฐเนวาดา ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินมากที่สุดเมื่อคราวที่ผ่านมา แบงก์ขนาดย่อม อย่าง Nevada State Bank กลับประคองตัวเองให้รอดพ้นภัยได้เป็นอย่างดี , ผมเคยเป็นลูกค้าของแบงก์นี้ ปรากฏว่าเขาบริการลูกค้าดีมาก มีการติดตาม(ในรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ) ดีมาก แม้ว่าช่วงต่อมาผมไม่ได้เป็นลูกค้าของแบงก์นี้ก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสวงหาและรักษาลูกค้า ,ในแง่ของการบริการลูกค้าของแบงก์ประเภทนี้ จึงดีกว่าแบงก์ขนาดใหญ่ระดับประเทศเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น ถึงแม้จะมีการมองว่าการทำธุรกิจหลายอย่างในอเมริกา เป็นไปในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นความจริงเสียทั้งหมด การปกป้องธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันยังมีอยู่ไล่ตั้งแต่ส่วนกลาง ตลอดถึงส่วนท้องถิ่น เหมือนเช่นกรณีของแบงก์ท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อตั้ง “ธนาคารจำเพาะ” หรือ “ธนาคารเฉพาะกิจ” แต่อย่างใด
ซึ่งความแตกต่างที่ว่า เห็นได้ชัดหากเทียบกับเมืองไทย ที่มีการ(ออกกฎหมาย/พระราชบัญญัติ)จัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจกันหลายแห่ง โดยรัฐ เจ้าของระบบอุปถัมภ์ใหญ่ทางการเงิน เป็นผู้ให้การสนับสนุน, ธนาคารเหล่านี้อยู่ได้ด้วยเงินของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชน การทำงานจึงเป็นไปในลักษณะเดียวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ(ข้าราชการ)เช่นเดียวกัน คือ ทำอย่างเสียไม่ได้ ค่อนข้างเฉื่อยเนือยและไร้ประสิทธิภาพ
อย่างเช่น ระบบการทำงานของธ.ก.ส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และอีกหลายธนาคาร รวมทั้งธนาคารเฉพาะที่เพิ่งเกิดใหม่โดยมีเจตนาเพื่อสนองตอบความอยากในเชิงการเมือง และระบบเส้นสายอุปถัมภ์ แม้กระทั่งบางธนาคารยังเกิดจาก “การเมือง”ที่มุ่งผลประโยชน์ที่ได้จาก“ความเชื่อความศรัทธา” แต่กลับสนองความต้องการของคนเพียงไม่กี่กลุ่มในองค์กรเท่านั้น NV bank
ที่สำคัญกว่านั้นการเกิดขึ้นของธนาคารเฉพาะแห่งใหม่นี้ แม้จะตอบโจทย์ เรื่องสินเชื่อสำหรับชาวบ้านโดยทั่วไปก็จริง แต่การณ์ส่วนหนึ่งเป็นการมุ่งวางเส้นสายภายในองค์กร โดยที่ตัวผู้บริหารธนาคาร(เช่น กรรมการธนาคาร) เหล่านี้ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเงินการธนาคารแต่อย่างใดเลย หากได้มาด้วยระบบพวกมากลากไปเท่านั้นเอง
ยังการยกข้ออ้างเรื่อง “ความเท่าเทียมกันเชิงการอนุญาตจัดตั้งธนาคาร”ที่กำลังดำเนินการเรียกร้องกันอยู่ เช่น การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา ซึ่งน่าคิดว่าสถานการณ์ทางการเงินการธนาคารของไทยจะออกมาในรูปแบบใดในอนาคต
ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดตั้งธนาคารพิเศษ(เฉพาะ) เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนในเรื่องเครื่องมือทางการเงินเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันในระบบธนาคารไทยแต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำ ยังเสมือนดำเนินการกันคนละระบบ ธนาคารพาณิชย์ไปอีกทาง ธนาคารเฉพาะโดยการอปุถัมภ์ของรัฐไปอีกทาง ไม่ได้สะท้อนอะไรที่ถือว่าเป็นไปตามกลไกทางการเงินเชิงอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงเลย ทั้งเป็นการตำน้ำพริกการเมืองละลายแม่น้ำการเมืองเสียก็มาก
อีกแง่ที่เห็น คือ ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศมุ่งแสวงหาหนทางที่เรียกว่า “อาศัยรัฐเป็นที่พึ่งทุกอย่าง” ,นโยบายประชานิยม ก่อให้เกิดความใหญ่โตอลังการของรัฐบาลขึ้น เอะอะอะไรก็ต้องพึ่งรัฐบาล (ไม่พึ่งตนเอง) ทำให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่รู้จักจบจักสิ้น , ในภาคการเงินการธนาคารก็เช่นเดียวกัน
เท่าที่ได้สดับมา หลายคน รวมทั้งตัวผมมีความเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) รู้ แต่แกล้งหลับตาเพียงข้างเดียว หรือทำหูทวนลม !
แต่ก็จะเห็นได้ว่า การทำงานของแบงก์ชาติ(ไทย)ต้องยุ่งยากมากเพียงใด เพราะนอกจากต้องดูแลธนาคารพาณิชย์ทั่วไปแล้ว ยังต้องดูแล “ธนาคารเฉพาะ”เหล่านี้อีกด้วย ซึ่งว่าไปแล้วไม่ได้เป็นเรื่องง่ายดายแต่อย่างใดเลย แถมดูแลได้ยากกว่าแบงก์พาณิชย์เสียด้วยซ้ำ เพราะมีการเมือง (ที่โยงถึงรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร หรือแม้กระทั่งคนในกองทัพ) เข้ามากำหนดหรือกุมนโยบายอีกด้วย
แค่นี้แบงก์ชาติก็ปวดขมับมากพอแล้ว !
ทั้งระบบการเงินที่ผ่านแบงก์เฉพาะเหล่านี้ มีขนาดใหญ่มากเสียด้วย ความสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงมีสูง และปฏิเสธ ไม่ได้ว่า ยิ่งมีสถาบันการเงินประเภทนี้มากเท่าใด ก็ยิ่งแยก “มาตรฐานในการกำกับควบคุม”ที่แบงก์ชาติจำต้องปฏิบัติตามหน้าที่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในแง่ของการกำกับควบคุมนโยบายด้านเงินที่เป็นมาตรฐาน ถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะยิ่งกำกับควบคุม(ดูแล)ยากมากยิ่งขึ้น
แต่ก็มีแต่แบงก์ชาติไทยเท่านั้นที่ทำได้ !!!
ทำไปทำมา การเกิดของธนาคารเฉพาะเหล่านี้ จึงไม่ได้สนองตอบต่อลูกค้าเฉพาะหรือลูกค้าทั่วไป ที่เป็นประชาชนหรือนักลงทุนที่สมควรได้รับการสนับสนุน หากแต่มุ่งสนองตอบต่อนโยบาย(ประชานิยม)ของรัฐ สนองความต้องการของหน่วยงาน และความต้องการของคนบางกลุ่ม ที่ต้องการควบคุมสถาบันการเงินประเภทนี้ เพื่อประโยชน์กลุ่มและพวกพ้อง
รวมทั้งที่สำคัญ คือ เพื่อตำแหน่งที่สามารถอำนวยความสมบูรณ์พูนสุขของพรรคพวก(ใครพรรคพวกมัน)ในธนาคารเฉพาะแห่งนั้นๆ
ธนาคารเฉพาะบางแห่งในเมืองไทยเกิดจากการรัฐประหารก็มี , กลุ่มรัฐประหารแต่งตั้งกรรมการธนาคารเสร็จสรรพ
ในวาทกรรมเชิงการเมือง“ทหารกับรัฐบาล”มีคำกล่าวซึ่งรู้จักกัน ได้แก่ “รัฐซ้อนรัฐ” แต่ในทางการเงินและเศรษฐศาตร์ จำเพาะในเมืองไทยมีวาทกรรมใหม่เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง ก็คือ “แบงก์(ของ)ชาติซ้อนแบงก์ชาติ”
เพราะแท้ที่จริง, ในทางปฏิบัติแบงก์ของรัฐเหล่านี้ แทบจะแยกเป็นเอกเทศออกไปการควบคุมกำกับจากแบงก์ชาติเสียด้วยซ้ำ
เป็น “อภิสิทธิ์แบงก์” ดีๆนี่เอง

ใส่ความเห็น

ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ptipitaka@yahoo.com

เท่าที่ติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของโลก ของอาเซียน(ASEAN)และของไทย รวมถึงการได้คุยกับนักธุรกิจไทยหลายคน ที่คุยไปด้วยถอนใจไปด้วย ทำให้ผมเกิดมโนภาพเกี่ยวกับความเป็นไปหรือแนวโน้มของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้(2556)และปีหน้า(2557) ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านนโยบายและด้านปฏิบัติการ ควรระมัดระวัง อย่างยิ่ง ดังนี้นะครับธกส.

นับเงิน
1.วิกฤตการณ์ด้านแรงงาน , ผมค่อนข้างที่จะเชื่อว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติแรงงาน จากหลายปัจจัย เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท สามารถเป็นเหตุของการตกงานของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำมาหากินในเมืองไทยได้มาก เพราะนายจ้างต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกิจการของบริษัทผลิตต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ที่ผู้ประกอบจะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มองในแง่นี้อย่าคิดว่าการขึ้นค่าแรง เป็นเรื่องไม่ดีต่อแรงงานไทยนะครับ การขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องดีจริงครับ ดีต่อการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย แต่การขึ้นค่าแรงที่ถูกหลักจะต้องคำนึงถึง, หนึ่ง คุณภาพของแรงงาน(แรงงานมีทักษะดีขึ้น) และ สอง คำนึงการเติบโตหรือความสามารถในการขยายและเปิดตลาดของผลผลิต(products) ซึ่งเมืองไทยเองกลับไม่มีสองปัจจัยดังกล่าวประกอบอย่างพอเพียง ขณะที่ในประการที่ สองเอง ตลาดสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่ผลิตเพื่อการส่งออกกลับหดลงและเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่า
วิกฤติแรงงานจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ,ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิต เพราะแรงงาน มีราคาสูงขึ้น และเป็นปัจจัยที่ไม่คงที่แน่นอน ก็จะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานมากขึ้น ทำให้จำนวนคนตกงานเพิ่มสูงมาก หน่วยงานด้านเศรษฐกิจบางแห่งประมาณว่า จำนวนแรงงานที่ตกงานจากสาเหตุนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 6 แสนคน แต่ผมคาดว่าน่าจะเป็นล้านหรือมากกว่านี้ ,ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง(SMEs) จะล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดก็หนีไม่พ้นรัฐบาลที่จะต้องออกมารับผิดชอบ (ด้วยเงินภาษีของประชาชนและเงินกู้ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนที่สูงอยู่แล้ว)
นอกเหนือไปจาก การตกงานของแรงงานจะกระทบต่อส่วนอื่นๆ เช่น ในภาคการเงิน และสถาบันการเงิน(Finance) รวมทั้งธุรกิจรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่มีกำลังผ่อน ดังนั้น ความเสี่ยงของเรื่องนี้จะมีมากหรือน้อย จึงขึ้นอยู่กับการวางแผนของผู้ประกอบการและนโยบายรัฐบาล ภาพที่เห็นๆกันอยู่นี้ ที่ดูเสมือนเศรษฐกิจดีหรือมีเงินสะพัด เทียบกันไม่ได้กับช่วงระยะต่อจากนี้อีกไม่นานที่ไทยเรามีความเสี่ยงที่จะเจอมรสุมด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง หากรัฐและเอกชนไม่กำหนดแผนหรือนโยบายด้านการเงินการคลัง ด้านอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ให้รอบคอบรัดกุมเสียตั้งแต่ตอนนี้ธกส.
2.วิกฤตการณ์ด้านการเงิน ,ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เช่น โครงการรถคันแรก โครงการรับจำนำข้าวจากเกษตรกร แค่สองโครงการนี้ก็ส่งผลกระทบกับตลาดเงินและตลาด รวมถึงระบบการคลังของรัฐบาลอย่างมากเมื่อเทียบต่อจีดีพี , ผลกระทบดังกล่าวอาจไม่เป็นภายในวันสองวัน แต่จะค่อยๆส่งผล โดยเฉพาะโครงสร้างหนี้ของประเทศ พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลไทยจะแบกรับภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการโยกเงินและคิดโครงการเพื่อหมุนเงินให้ดูสะพัด แต่ก็เสมือนการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน ซึ่งในภาวะแท้จริงแล้ว ไม่ว่ารัฐจะคิดโครงการใหญ่เพื่อให้เงินสะพัดมากขนาดใด ก็ไม่น่าจะเป็นผล เพราะในท้ายที่สุดแล้วเงินเหล่านั้น ย่อมตกไปอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น เช่น หากพิจารณาจากสองโครงการใหญ่ของรัฐบาล ผลประโยชน์ย่อมตกแก่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์(ข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์ด้านแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านรถยนต์ ต้องดูในรายละเอียดให้ดีว่าจริงๆแล้วใครได้รับประโยชน์) และกลุ่มโรงสี รวมถึงพ่อค้าข้าว มากกว่าที่จะตกถึงมือเกษตรกรส่วนใหญ่
เม็ดเงินนับแสนล้าน(ในโครงการจำนำข้าว) นั้น รัฐสามารถนำเอาทำโรงสีได้ทั้งประเทศให้กลุ่มเกษตรกร เพื่อแปรสภาพออกมาเป็นข้าวสารขายได้ด้วยซ้ำ แต่แน่ล่ะ การทำเรื่องแบบนี้เป็นของยากสำหรับสำหรับรัฐบาลไทย เพราะไปเกี่ยวข้องกับฐานการสนับสนุนทางการเมืองต่อพรรคการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ด้านค้าข้าว (ส่วนหนึ่งของกรณีนโยบายการส่งเสริมชาวนา รัฐไทยน่าจะดูตัวอย่างจากการดำเนินการด้านนโยบายด้านข้าวของรัฐบาลเวียดนาม ,ไม่ถึงขนาดต้องเอา “อย่าง”เวียดนาม แต่น่าจะเอา “เยี่ยง”เวียดนามมาใช้ได้)
สำหรับวิกฤติการเงินที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นนี้ ผมเชื่อว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) น่าจะจับสัญญาณอะไรได้บางอย่างด้วยซ้ำ ต้องไม่ลืมว่าก่อนที่จะเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกาครั้งที่ผ่านมา ก็เนื่องด้วยสาเหตุจากการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินของฝ่ายธุรกิจและการควบคุมที่หละหลวมของฝ่ายรัฐอเมริกัน เวลานี้ประเทศไทยดูเหมือนจะเดินเข้าใกล้จุดสุกงอมของปัญหาดังกล่าว เพราะโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่มีผลผลิตจริงในวงจรเศรษฐกิจ ขาดความเชื่อมโยงเชิงวงจรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเชื่อมกัน เช่น เรื่องของแรงงานในภาคการผลิตต่างๆ กับนโยบายด้านอุตสาหกรรม หรือกับนโยบายด้าน “เกษตรพาณิชย์” เป็นต้น
นอกเหนือไปราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่สมควรจะต้องเป็นไปตามกลไกการตลาด แต่ปรากฏว่า สินค้าบางรายการ เช่น สินค้าเกษตรมีราคาแพง เนื่องจากต้นทุนด้านแรงงานปรับสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรอยู่กันอย่างลำบาก และต้องเลิกอาชีพไปในที่สุด ,สินค้าเกษตรที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องบริโภคชนิดดังกล่าว ก็ต้องปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นเหตุให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
ธนาคารพาณิชย์หลักๆของไทยส่วนใหญ่อาจได้รับผลกระทบจากผลของความล้มเหลวของเศรษฐกิจเชิงนโยบายการเงิน (เล่นแร่แปรธาตุ)น้อย เพราะรายได้จากแบงก์เหล่านี้มาจากการคิดกับค่าธรรมเนียมเอากับลูกค้าของแบงก์เหล่านั้นเอง ซึ่งเป็นรายได้ที่มั่นคงและแน่นอนกว่ารายได้ส่วนอื่น (เรื่องนี้แบงก์พาณิชย์ของไทยกระทำกันอย่างไม่ละอาย โดยแบงก์ชาติเองได้แต่มองดูตาปริบๆ) ยกเว้นบางสถาบันการเงินที่เน้นการปล่อยสินเชื่อด้านยานยนต์ หรือสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ที่จะมีความเสี่ยงสูง
3.การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน , เวลานี้หลายกลุ่มธุรกิจการผลิตในเมืองไทยได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน อย่างเช่น ลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น ตัวอย่างนี้สามารถเห็นได้จากการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ของกลุ่มสหพัฒน์ ที่เริ่มผ่องถ่ายการผลิตบางส่วนออกไปยังพม่า เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนแรงงานในไทยได้อีกต่อไป บริษัทอื่นๆ ก็อยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน ซึ่งดูเหมือนชะตากรรมการผลิตสินค้าต่างๆในไทยเป็นเรื่องที่ยังมืดมนในอนาคต เพราะได้รับแรงกดดันถึง 2 ทาง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(อีกเช่นเคย) ได้แต่มองดูตาปริบๆ
แรงกดดันทางแรก คือ เรื่องการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านแรงาน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่า ค่าแรงในเมืองไทยสูงกว่าค่าแรงในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ก็ตาม เหตุผลส่วนหนึ่ง คือ ความต้องการแรงงานจำนวนมากของผู้ประกอบการเป็นเหตุให้ค่าแรงสูง และนำสู่ความล้มเหลวเชิงการแข่งขันด้านต้นทุนในที่สุด
แรงกดดันทางที่สอง คือ การระบายสินค้า(ตลาด)ของผู้ผลิตสินค้าถูกบีบและถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่แคบลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโมเดิร์นเทรด(ที่ผูกขาดอยู่ในกี่เจ้า) โดยไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขด้านกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม(ด้านการค้าในประเทศ)จากรัฐบาล หรือรัฐสภาเลย และนับวันทางเลือกด้านตลาดของผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้จะน้อยลงไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการสนใจเหลียวแลจากรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจเหล่านี้ก็จะถึงทางตัน และเป็นเหตุให้โมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม และเป็นกลุ่มการลงทุนจากต่างประเทศ ยึดครองตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะนับเป็นการบั่นทอนกลไกการตลาดที่เคยทำงานให้ขาดสะบั้นลงในที่สุด
ขณะเดียวกันน่าสนใจว่า ระบบทุนเป็นใหญ่ โดยปราศจากการควบคุม(ด้านกฎหมาย)เพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขัน กลับให้บริษัทการผลิตขนาดเล็กถึงขนาดกลางล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก โดยถูกกลุ่มทุนขนาดใหญ่เหล่านี้กินรวบและทุบทำลายทั้ง(ด้านกลยุทธ์)การลงทุน และ(ด้านกลยุทธ์)การตลาด ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งยังปราศจากการเหลียวแล โดยเฉพาะจากภาครัฐที่ยังคงมุ่งนโยบายประชานิยมไม่เปลี่ยนแปลง
ผมไม่ได้ปฏิเสธ ประชานิยมครับ ในอเมริกาก็ยังมีประชานิยมกันเป็นเรื่องปกติ , ประชานิยมหลายบางเรื่องเป็นเรื่องดี ผลประโยชน์ตกถึงมือประชาชนโดยตรง แต่ประชานิยม ควรคำนึงวงจรด้านเศรษฐกิจให้ครบถ้วนและรัดกุม รวมทั้งคำนึงถึงความยุติธรรมในภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมด้วย

ใส่ความเห็น