กรุสำหรับ กรกฎาคม, 2011

ปัญหาหนี้ที่น่ากลัวของอเมริกา

พีร์  พงศ์พิพัฒนพันธุ์  : piralv@yahoo.com

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาและสัปดาห์นี้ ทางเมืองไทยและทั่วโลกคงได้เสพข่าวประธานาธิบดีบารัก โอบามา งัดข้อกับ ทางฝ่ายรีพับลิกัน  ที่นำโดยนายจอห์น เบห์เนอร์(John Boehner)ประธานสภาล่างหรือฝ่ายสส.  ซึ่งขณะนี้ฝ่ายรีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ สาเหตุความขัดแย้งครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากโอบามาต้องการขยายเพดานเงินกู้เพิ่มมากขึ้น ตามแผนก่อหนี้ที่รัฐบาลอเมริกันดำเนินการสร้างหนี้จนกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะที่รีพับลิกันบอกว่า รัฐบาลโอบามาใช้จ่ายมากเกินไปแล้ว พร้อมกันนี้ก็เสนอให้หั่นวงเงินหนี้ลงอีกด้วย ทั้งสองฝ่ายออกข่าวโต้กันไปมาตลอด

จอห์น เบห์เนอร์

ขณะเขียนคอลัมน์นี้ (วันที่ 26 ก.ค.) ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังไม่สามารถตกลงประนีประนอมกันได้  ขณะที่เส้นตายคือวันที่ 2  ส.ค. ที่จะถึงนี้ใกล้มาทุกขณะ  และหากตกลงกันไม่ได้ การใช้หนี้ของรัฐบาล (Government bills) ในส่วนต่างๆ ก็จะมีอันต้องชะงักงัน เช่น เงินเดือนของข้าราชการและเงินเดือนของลูกจ้างของรัฐบาล ,เงินที่รัฐบาลต้องจ่ายประจำอย่าง เงินประกันสังคม และเงินค่าสวัสดิการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เป็นต้น

                ตัวเลข เพดานงินกู้ของรัฐบาลโอบามาตามกฎหมายที่คองเกรสชุดก่อนๆให้การรับรอง มีจำนวนทั้งสิ้น14.3 ล้านล้านเหรียญ  แต่โอบามาบอกว่า มันไม่พอในการใช้หนี้ที่อเมริกาเป็นอยู่เสียแล้ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายประจำ ทั้งนี้หมายรวมหนี้ที่รัฐบาลอเมริกันเป็นอยู่กับประเทศอื่นๆอีกด้วย

                รัฐธรรมนูญอเมริกันระบุไว้ว่า คองเกรสเท่านั้นที่สามารถอนุมัติวงเงินก่อหนี้ได้ตั้งแต่ปี 1962 โดยคองเกรสเพิ่มวงเงินเพดานหนี้(ที่รัฐบาลสามารถเป็นหนี้หรือหมุนเงินในจำนวนที่กำหนดได้)ถึง 72 ครั้ง ,โดยในช่วง 10 ปีหลังสุด คองเกรสอนุมัติเพิ่มเพดานหนี้ 10 ครั้ง ซึ่งฝ่ายรีพับลิกันบอกว่าบ่อยครั้งมากเกินไป  ทำให้ขนาดของรัฐบาลใหญ่มากเกินความจำเป็น

                คำว่า “ขนาดของรัฐบาลใหญ่มากเกิน” หมายความว่า รัฐบาลเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการเงินมากเกินไป หรือรัฐบาลต้องเอื้อมมือมารับหน้าที่ในการบริการด้านการเงินเป็นหลักแทนที่จะเปิดโอกาสหรือสร้างเงื่อนไขให้เอกชนสามารถแข่งขันกันเอง ตามหลักการแข่งขันแบบทุนนิยมเสรีดั้งเดิม อันเป็นปรัชญาการจัดการด้านเศรษฐกิจของรีพับลิกัน

                นับแต่ปี 1979 กฎหมายอนุญาตให้ให้สภาล่าง(สส.) สามารถโหวตเพื่อปรับเพิ่มเพดานหนี้เป็นวงเงินเท่าไรก็ได้ เท่าที่จำเป็นจะต้องใช้จ่ายตามแผน(กำหนดวงเงิน)งบประมาณแต่ละปี จนเมื่อเดือนม.ค.( ปี 2011)ที่ผ่านมา สภาล่างโหวตให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว โดยต้องมีการแยกพิจารณาเพดานหนี้ต่างหาก  ไม่รวมกับงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ

                เมื่อโอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนม.ค. 2009 ตอนนั้นเศรษฐกิจของอเมริกากำลังย่ำแย่แบบสุดๆ  ที่เรียกกันว่า Great depression วงเงินหนี้สาธาณะของรัฐบาลอเมริกันตามกฎหมายในตอนนั้นอยู่ที่ 10.6 ล้านล้านเหรียญ แต่หลังจากนั้น อีกราวๆ 2 ปีครึ่งต่อมาที่โอบามาครองตำแหน่งผู้นำประเทศ มีการขยายเพดานหนี้ ด้วยการอนุมัติจากคองเกรสออกไปเป็น 14.3 ล้านล้านเหรียญดังกล่าวแล้ว

                ข้อสังเกตุในส่วนของการเมืองของอเมริกันก็คือ สมัยเริ่มแรกของการเข้ารับตำแหน่งของโอบามานั้น เดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาล่าง โดยมี นางแนนซี เปลอสซี เป็นประธานสภาในขณะนั้น แต่หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว รีพับลิกันกลับเอาชนะเดโมแครต ได้ครองเสียงส่วนใหญ่ หลังจากนั้นจึงเสนอและโหวตให้มีการแก้ไขกฎหมายการกำหนดเพดานหนี้ ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาเสียใหม่ จนเป็นเหตุให้โอบามาไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มากไปกว่าการขอร้องให้ทางรีพับลิกันโหวตสนับสนุนเพดาน(ก่อ)หนี้ ที่เขาเองพร้อมที่จะประนีประนอม

บารัค โอบามา

แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาเพิ่งไม่นาน คือ รีพับลิกันต้องการตัดวงเงินในเพดานหนี้เดิมลงอีกจำนวนมาก ล่าสุดของการต่อรอง โอบามา-เดโมแครตต้องการให้ปรับเพิ่มอัตราภาษี 1 ล้านล้านเหรียญในช่วง 10 ปีข้างและยอมประนีประนอมต่อรีพับลิกันให้ตัดวงเงินลง 3 ล้านล้านเหรียญ  แต่รีพับลิกันก็ยังบอกว่า โอบามายังปรับลดวงเงินน้อยไป

                ข้อเสนอที่น่าสนใจกรณีแผนการของโอบามาต่อคนอเมริกันที่ชอบและเฝ้ารอสวัสดิการจากเงินประกันสังคม ก็คือ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันต้องการให้เลื่อนการใช้สิทธิหลักประกันทางการแพทย์ในระบบประกันสังคมจากตอนนี้ที่กฎหมายกำหนดไว้ในช่วงอายุ 65 ปี(ต้องได้รับสวัสดิการนี้)  โอบามาเสนอให้เลื่อนออกไปเป็นอายุ 67 ปี

                เบห์เนอร์-รีพับลิกัน ออกโรงค้านการขึ้นภาษี เขาบอกว่า อย่างไรเสีย คงยอมไม่ได้ อ้างว่าจะทำให้บริษัทอเมริกันต่างๆไปไม่รอด หมายถึงคนงานอาจถูกโละ หากธุรกิจไปไม่ไหว แต่โอบามาบอกว่า เขามีฐานในการขึ้นภาษี คือ จะขึ้นภาษีกับคนที่มีฐานรายได้สูงเท่านั้น โดยได้ใช้คำพูดซัดตรงไปที่ผู้บริหารของเฮดจ์ฟันด์ว่า รัฐจะไม่เพิ่มภาษีเอากับคนเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาจ่ายภาษีน้อยกว่าเลขาของตัวพวกเขาจ่ายภาษีเองซะอีก นอกเหนือไปจากการเปรียบเทียบ กรณีนักเรียน ที่โอบามาบอกว่าถึงกับมีการเรียกร้องให้จ่ายเพิ่มค่าเรียนในโรงเรียนต่อบรรดานักเรียน แต่กับพวกนายทุนใหญ่ กลับไม่ยอมเรียกร้อง เรื่องจึงโอละพ่อเสียจริงๆ

                นับแต่ปี 2002 เป็นต้นมา หนี้ของรัฐบาลอเมริกันเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 5 แสนล้านเหรียญ  ตอนแรกๆนั้น เป็นสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2001 และปี 2003  ที่เขาได้ลงนามในร่างกฎหมายประชานิยมแบบอเมริกัน คือ ปรับลดอัตราภาษีกำไรธุรกิจ(คนรวย)ลงจาก 39.6 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการลดภาษี Capital gains  หรือภาษีเฉพาะในธุรกิจเก็งกำไรจาก 20 เปอร์เซนต์เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักวิเคราะห์จากยูเอสเอทูเดย์บอกว่า ยอดเงินที่เก็บจากภาษีเงินได้ของคนอเมริกันตกฮวบมากที่สุดนับแต่ปี 1950 ทำให้รัฐขาดรายได้ไปจำนวนมาก 

                นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายเพื่อการสงคราม ทั้งในอิรัก และอาฟฆานิสถาน ค่าใช้จ่ายสำหรับการสร้างระบบประกันสุขภาพที่เพิ่งมีการอนุมัติในสมัยรัฐบาลโอบามา รวมทั้งรายจ่ายของรัฐต่อสวัสดิการด้านการแพทย์ต่อผู้สูงอายุและคนพิการที่เพิ่มมากขึ้นถึง 137 เปอร์เซ็นต์ จากปี 1999 ถึงปี 2009

                ในช่วงที่ผ่านมาทั้งนักวิเคราะห์และนักการเมืองอเมริกัน มองต่างมุมเกี่ยวกับเรื่องนี้  บ้างมองว่าท้ายที่สุดแล้วคงสามารถตกลงกันได้ 

                อย่างไรก็ตาม มีหลายมุมมองที่เห็นว่า อย่างน้อยๆอเมริกาต้องตัดเพดานจำนวนหนี้ลง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามออกไป  เพียงแต่ว่าประเทศและคนอเมริกันต้องมีการเจ็บตัวกันอีกครั้ง นอกเหนือไปจากการปล่อยให้มีการผิดนัด หรือเลื่อนชำระหนี้ หรือที่เรียกกันว่า Default ที่นักการเมืองหลายคนฝ่ายรีพับลิกัน เห็นว่าไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของอเมริกันมากนัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างธนาคารกลาง(เฟด) สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้

                ซีเนเตอร์คนสำคัญของรีพับลิกันอย่าง เจฟฟ์ เสซชั่นส์(Jeff Sessions)กับ พอล ไรอัน(Paul Ryan) บอกว่า เขาอยากให้รัฐบาลอเมริกันเลื่อนการชำระหนี้ออกไปก่อน หมายถึงว่าเขาต้องการ Default นั่นเอง

การส่งสัญญาณดังกล่าว กระเทือนต่อแผนการของประธานเบห์เนอร์ หากว่าเขาต้องการที่จะประนีประนอมกับฝ่ายเดโมแครตอยู่บ้าง ในการชี้ชวนดึงกลุ่มสมาชิก(Caucus) ของรีพับลิกันให้หันมาใช้แนวทางเพื่อเลี่ยงการผิดนัดหรือเลื่อนเวลาจ่ายหนี้ออกไป ซึ่งจะกระทบต่อความน่าเชื่อ(เครดิต)ของรัฐบาลอเมริกันและภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด

                แต่ถึงแม้ทั้ง 2 พรรค จะเกี๊ยะเซี้ยะเรื่องเพดานหนี้กันได้หรือไม่ก็ตาม อเมริกายังมีปัญหาทางด้านการเงินทั้งขึ้นทั้งล่องอยู่ดี ไม่ว่าจะDefault และไม่Default ก็ตาม เพราะถึงไม่Default ก็ต้องตัดลดวงเงินลงจำนวนมาก มิฉะนั้นแล้วก็ต้องปรับขึ้นภาษี ซึ่งประเด็นหลังนับว่ายาก รีพับลิกันคงไม่ยอม   

เมื่อเป็นดังนี้ สามารถพยากรณ์ได้ว่า การใช้จ่ายในส่วนของหน่วยงานของรัฐบาลอเมริกันย่อมฝืดแบบสุดๆ จะมีการตัดเงินช่วยเหลือต่อโครงการต่างๆจำนวนมหาศาล เงินที่จะต้องใช้จ่ายไม่พอแน่นอน  ไม่แปลกที่มีคนพูดกันแล้วว่า โอก่าสที่ Double-dip recession จะเกิด ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้..!

 

ใส่ความเห็น

ปัญหาแรงงานเปรียบเทียบไทย-อเมริกา

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์  @piralv@yahoo.com

กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปสำหรับแผนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะยังไม่มีการฟอร์มเป็นรัฐบาลก็ตาม นับว่าเป็นกรณีน่าจับตามองอย่างยิ่งถึงผลได้ผลเสีย ที่ไม่เพียงแต่กระทบทั้งลบและบวกทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังกระทบต่อด้านอื่นๆด้วย เช่น ปัญหาสังคม เป็นต้น ดังนั้น นอกเนือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจแล้ว หน่วยงานด้านอื่น อย่างเช่น หน่วยทางด้านความมั่นคงปลอดภัย ก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

                หมายถึงว่า หากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะส่งผลกระทบให้มีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น แรงงานเหล่านี้ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ ขณะที่เรายังไม่มีการบูรณาการหน่วยงานที่ดูแลด้านแรงงานด้านต่างด้าวกันเลย ซึ่งก็คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ ตม.  นั่นเอง

                ในอเมริกาก็มีปัญหาด้านแรงงานมากเช่นเดียวกัน จนนำไปสู่การประกาศนโยบายของแต่ละรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาต่างด้าว โดยเฉพาะที่อพยพมาจากเม็กซิโก และประเทศอื่นๆในลาตินอเมริกา หนีเข้ามาทำงานในอเมริกา จนกลายเป็นกลุ่มชนก้อนใหญ่มากกว่า 10 กว่าล้านคน ส่วนใหญ่ก็เพื่อแสวงหาโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ เหมือนแรงานพม่า เขมรและลาว ในเมืองไทย

                ไม่ว่ารัฐบาลใหม่ของไทยจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ปัญหาแรงงาน และเรื่องค่าแรงก็ยังจะเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญต่อไปและพร้อมที่จะปะทุ         ลามออกไปในส่วนอื่นๆ หากว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ซึ่งโดยส่วนแล้วผมเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงในครั้งนี้

ส่วนจะขึ้นเป็นเท่าไรถึงจะเหมาะสม การพัฒนาในส่วนของรูปแบบหรือโครงสร้างของค่าแรงจะเป็นแบบใด และส่งผลด้านเศรษฐกิจอย่างไรเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องว่ากัน ยังจะไม่กล่าวในที่นี้ แต่จะเอาระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานในอเมริกามาเปรียบเทียบให้เห็น

                จากการสังเกต ในภาพรวมของการแก้ไขปัญหาแรงงานของรัฐบาลอเมริกันในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา น่าจะแบ่งออกได้ดังนี้

1.ประเด็นการพิจารณาคัดเลือกแรงงาน คำนึงคุณภาพแรงงานเป็นหลัก  แรงงานอเมริกันได้ถูกพัฒนาจนเกิดทักษะ (Skill) ในการทำงาน ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับค่าแรง ที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยวัดจากความสามารถหรือความชำนาญในการทำงานแต่ละสาขาอาชีพ ไม่ได้วัดจากวุฒิการศึกษาเหมือนดังแรงงานและระบบการจ้างงานในเมืองไทย ทักษะที่ว่านั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะงานด้านช่างอย่างเดียว แต่รวมทุกอย่างทุกสาขาอาชีพ ทุกประเภท มีคำว่า “มืออาชีพ” การันตี ผ่านระบบใบอนุญาต (License)   การคิดค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง คิดเป็นรายชั่วโมง วัฒนธรรมการคัดกรองแรงงานพิจารณาจากประสบการณ์และทักษะเป็นหลัก มียกเว้นบางประเภทเฉพาะเท่านั้น ที่คัดกรองจากวุฒิการศึกษา

2.ประเด็นการพิจารณาค่าจ้างหรือค่าตอบแทน ขึ้นกับทักษะ และประสบการณ์การทำงานของแรงงาน ขอบเขตของความรับผิดชอบในงานนั้นๆ ความเสี่ยงภัย หรือเสี่ยงอันตราย  ความโดดเดี่ยว (งานโครงการวิจัย หรืองานความลับของเอกชนหรือรัฐบาลบางประเภท) วัฒนธรรมการพิจารณาเพื่อจ้างแรงงานและให้ค่าตอบแทน ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา เช่น คนงานก่อสร้าง คนงานกวาดขยะ ได้ค่าตอบแทนรายชั่วโมงมากกว่าพนักงานหน้าเค้าน์เตอร์ของธนาคาร เป้ฌนต้น

                3.ประเด็นลักษณะการทำงานในองค์กร จากรูปแบบการจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงนั้น ทำให้แรงงานหรือลูกจ้าง ต้องทำงานเต็มความสามารถ พูดง่ายๆ คือ อู้งานไม่ได้  งานที่ออกมาต้องมีประสิทธิภาพ คุ้มกับค่าจ้าง ไม่เป็นลักษณะเช้าจามเย็นชาม องค์กรเองพยายามลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนเพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองค่าใช้ในการจ้างงาน เกิดระบบที่เรียกว่า One stop service มากมาย พูดง่าย คือ เขาใช้แรงงานคุ้มกับค่าจ้าง เช่น พนักงานของเทศบาลคนเดียวทำงานด้วยรถเก็บขยะคันเดียว ไม่มีผู้ช่วย หรือแม้แต่พวกช่างด้านบริการต่างๆ คนเดียว คันเดียวเช่นกัน

             4. ประเด็นการพัฒนาแรงงานแรงงานในองค์กร องค์กรหรือนายจ้างให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างมาก ในรอบปีหนึ่งๆมีการฝึกอบรมให้กับพนักงานที่เป็นแรงงาน  เพื่อเสริมทักษะให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและร่วมสมัย  หรือ up to date อยู่อย่างสม่ำเสมอ  ในกรณีของในอนุญาตในอาชีพต่างกำหนดเป็นระยะๆ เพื่ออบรมและสอบทบทวน เรียกกันว่า Renewal แรงงานหรือพนักงานจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้อยู่เสมอ 

5. ประเด็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน ตลอดที่ผ่านมา 10 กว่าปี หน่วยงานของเอกชนและรัฐของอเมริกันให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างมาก  โดยเฉพาะในยุคดิจิตัลหรือยุคออนไลน์ งานหลายประเภทไม่ต้องไปทำงานที่สำนักงานก็ได้ สามารถทำอยู่กับบ้านหรือที่ไหนก็ตาม ทำให้องค์กรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการหลายเรื่อง อย่างน้อยๆ ก็ค่ายานพาหนะ เป็นต้น

6. ประเด็นสวัสดิการแรงงาน  เป็นเงื่อนไขตามกฎหมายแรงงานที่นายจ้างหรือองค์กรต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้าง เช่น ในด้านการประกันสุขภาพ ด้านสวัสดิการเงินสำรองเลี้ยงชีพ  ด้านการจัดการเงินออมระยะยาวสำหรับลูกจ้าง  ด้านที่สัมพันธ์กับสหภาพแรงงานที่เรียกกันติดปากในบรรดาแรงงานอเมริกันว่า Union   หรือแม้กระทั่งงานด้านเงินออมระยาวสำหรับรีไทร์ของพนักงาน ที่เรียกว่า 401K ที่รัฐหนุนผ่านมาตรการทางด้านภาษี หรือปลอดภาษีนั่นเอง เป็นต้น

7.ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เรื่องนี้นับว่าสำคัญมาก หลักๆ ก็คือ กระทรวงแรงงาน (Department of Labor) กับกระทรวงความมั่นคงภายใน (Department of Homeland Security) กระทรวงแรกนั้นดูแลด้านแรงงานและนายจ้างโดยตรงในหลายๆด้าน เช่น คุณภาพของแรงงาน  ค่าแรง ความถูกต้องปลอดภัยของสถานประกอบการ การละเมิดกฎหมายแรงงานของนายจ้างและลูกจ้าง สวัสดิการของแรงงาน ฯลฯ  ขณะที่หน่วยงานหลัง ดูแลและจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ ในอเมริกา แรงงานต่างด้าวนับว่าสำคัญต่อเศรษฐกิจของอเมริกันมาก ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนเดินหน้าไปได้ด้วยดี ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งทะลักเข้ามาจากพรมแดนที่อยู่ติดกับอเมริกาด้านใต้ คือ พรมแดนเม็กซิโก ถึงขนาดอเมริกาสร้างกำแพงยาวกว่า 3000 กว่ากิโลเมตร ที่เรียกว่าThe Mexico – United States barrier มากั้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้มากนัก

กระทรวงความมั่นคงภายใน(ตอนนี้เข้าใจว่ามีนักการเมืองไทยบางคนเกิดความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยงานเหมือนกับกระทรวงนี้ของอเมริกัน  แต่ไม่ทราบรูปแบบว่าจริงๆแล้วจะเหมือนกันหรือไม่) แปรสภาพมาจากหน่วยงานด้านตรวจคนเข้าเมืองของอเมริกันเดิม  คือ INS- Immigration and Naturalization services) เนื่องจากรัฐบาล (ในตอนนั้นคือ รัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช) เห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างด้าวว่าเริ่มมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ตลอดถึงความไม่มั่นคงจากผลพวงของการก่อการร้ายในหลายๆที่ทั่วโลก ที่กระเทือนถึงผลประโยชน์ของอเมริกัน  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ  ปัญหาภายใน ได้แก่แรงงานเถื่อนจำนวนมาก ที่ส่งผลต่อปัญหาสังคมของอเมริกัน  นอกเหนือไปจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ที่คนอเมริกันจำนวนมากหวั่นวิตก ว่าลูกหลานของคนเหล่านี้มาแย่งสวัสดิการไปจากคนอเมริกันในประเทศ ตัดทอนเอาทรัพยากรต่างๆไปใช้ โดยฝ่ายอเมริกันอยู่ในฐานะผู้จ่ายภาษี หรือเป็นผู้ให้  ที่เห็นๆกัน ก็คือ สวัสดิการด้านการศึกษาและสาธารณสุข

ในประเด็นแรงงานนี้ น่าจะได้ลองเปรียบเทียบกับ ในส่วนของเมืองไทย ทั้งในเรื่องของระบบการคัดสรรหรือเกณฑ์การคัดสรรแรงงาน ระบบการทำงาน ระบบการจ่ายค่าแรง วัฒนธรรมองค์กร กระทั่งถึงข้อสุดท้าย คือ ผลกระทบจากความเป็นไปของค่าแรง  

ในประเด็นที่ 7 ไม่ว่าจะขึ้นค่าแรงหรือไม่ก็ตาม  คนไทยก็ได้รับผลกระทบจากการไหลทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว หากว่าขึ้นค่าแรง แน่นอนผลกระทบย่อมจะเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย ขณะที่เรายังทำงานกันไม่เป็นระบบ งานต่างด้าวก็ไปฝากไว้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพียงอย่างเดียว ทั้งๆที่ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงงานด้านอื่นๆอีกมากมาย

หมายถึง ความจำเป็นที่เราจะต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญและกำกับงานต่างด้าวโดยเฉพาะหรือไม่ อันนี้ฝากไปพิจารณากัน

ตัวอย่างที่ที่เป็นรูปธรรมล่าสุดที่ออกมา เช่น  ข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า จำนวนนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดกทม.ขณะนี้  มีนักเรียนต่างด้าวเพิ่มขึ้นจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว ก็น่าจะเป็นสัญญาณชี้อะไรบางอย่างได้อย่างดี

อเมริกาน่ะ ยังพอมีที่มีทางว่างเปล่าอยู่มาก แต่ของไทยนั้นเกรงจะหดเหี้ยนลงไปเสียด้วยซ้ำ หากยังเพิกเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อนกันอยู่เหมือนในเวลานี้..

1 ความเห็น

วิชาการทางพระพุทธศาสนาเพื่ออะไร?

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ piralv@yahoo.com

ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งในส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ และมหาวิทยาลัยของรัฐตามปกติ จำนวนไม่น้อยที่เปิดสอนสาขาพุทธศาตร์ หรือแม้แต่สาขาปรัชญาที่มีเนื้อหาคาบเกี่ยวกัน  โดยวัตถุประสงค์ของสถาบันการศึกษาในระดับนี้แน่นอนว่าย่อมเกี่ยวข้องกับงานทางด้านวิชาการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เป็นงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรงนั่นเอง

                    น่าสนใจว่ากระบวนทัศน์เกี่ยวแก่งานวิชาการ (Academic matter  การที่เกี่ยวกับความรู้โดยเฉพาะ การแห่งความรู้แจ้ง) เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น สมควรที่จะมุ่งเน้นไปทางด้านไหนมากกันเพื่อเกิดประโยชน์กับตัวผู้ศึกษาเอง คนรอบข้าง สังคม และเพื่อเป็นฐานต่อยอดองค์ความรู้ในอนาคตกาลอันถือเป็นอารยธรรมออกไปอีกอย่างกว้างขวางมาก ในอันที่จะให้เกิดประโยชน์กับอนุชนรุ่นหลังๆต่อไปอีกด้วย

                ในความเห็นของผู้เขียน ขึ้นชื่อว่า วิชาการ  น่าจะอยู่เหนือไปจากบริบทด้านใดก็ตามที่ยังไม่สามารถพิสูจน์และสืบค้นได้ อย่างเช่น กรณีวิชาการด้านพระพุทธศาสนา น่าจะอยู่นอกเหนือไปจากบริบทระดับแห่งผลการปฏิบัติภายในที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ หรือยืนยันให้ทราบชัดด้วยหลักฐาน ใดๆก็ตาม  หรือหมายถึงการอ้างหตุแห่งพุทธดำรัสที่ว่า  “พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว    ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียกให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตนอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” (ที.มหา.ไทย10/159/103 มหาจุฬา)  โดยเฉพาะสิ่งที่ “อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน” ไม่ได้ นี้น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรอยู่นอกเหนือไปจากบริบทของงานทางด้านวิชการเชิงพุทธ เช่น  การอ้างถึงการระดับการบรรลุธรรรมของตนเองหรือของคนโน้นคนนี้ ไม่จัดอยู่ในบริบทเชิงวิชาการ คือ ไม่รู้จะไปพิสูจน์อย่างไร สร้างเครื่องมือ หลักฐาน ตลอดถึงการตั้งค่าตัวแปรขึ้นมาพิสูจน์รองรับไม่ได้  

แต่หากพูดถึงปัจจัยหรือองค์ประกอบแห่งการบรรลุธรรม  หรือกระทั่งการพิสูจน์ถึงแนวทางการปฏิบัติกับผลที่ได้จากการปฏิบัติธรรม  เช่น ความสุขสงบ โดยใช้ตัวแปรต่างๆ(ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผลการเรียนดีขึ้น เป็นต้น) อ้างได้ ก็สามารถจัดให้อยู่ในบริบททางวิชาการได้ อย่างนี้เป็นต้น  หรือบางทีอาจพูดไปได้ว่า งานทางค้นคว้าวิจัย หรืองานวิชาการย่อมหาทางพิสูจน์สิ่งภายในอยู่เช่นกัน แม้แต่ประเด็นยากๆที่มักกล่าวกันว่าไม่มีทางเป็นไปได้ อย่างเช่น ระดับชั้นการบรรลุธรรมถึงขั้นไหนแล้ว  แต่นั่นมองอีกมุมก็จะกลายเป็นสิ่งเลยความเป็นปัจจัตตังไปเสีย ก็จะไปแย้งกับพุทธพจน์ “ปัตจัตตัง”ที่หมายถึงส่วนที่จะต้องอาศัยการเข้าถึงด้วยการปฏิบัติและรู้ภายในของแต่ละปัจเจกเท่านั้น

                 แต่กระบวนการทั้งหมดทางด้านพุทธศาสนา ไม่ได้มีแต่เพียงเท่านี้ กระบวนการที่สมบูรณ์ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้   แต่หากเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาการก็น่าจะเป็นความเกี่ยวข้องในข้อแรกคือ ปริยัติ ถึงขนาดที่ทรงกำหนดเป็นวินัย ให้ภิกษุที่ไม่รู้เรื่องปริยัติ ต้องบำรุงหรือดูแลภิกษุที่รู้เรื่องปริยัติที่อยู่ในอาวาสเดียวกัน หรือที่ท่านเรียกว่า ภิกษุพหูสตร (วิ.ม.ไทย 4/163/244 มหาจุฬา)  แสดงว่าทรงให้ความสำคัญกับการปริยัติอย่างมาก

                อีกประการที่เห็นควรนำมากล่าวถึง ความศรัทธา หรือคนประเภทที่มีศรัทธาจริตสูงต่อคำสอนหรือการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา งานวิชาการนั้น หากให้มบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว ต้องเลยขั้นศรัทธาไปให้ได้  ไม่เช่นนั้นผลงานที่จะออกมาย่อมไม่ตรง เช่นการตั้งข้อสงสัยแล้วทำการพิสูจน์ อาจได้ค่าที่เบี่ยงเบนไป จากตัวคติหรือจริตที่ผู้ทำการวิจัยงานวิชาการนั้นเอง หรือแม้แต่วาทกรรมการโต้แย้งหาเหตผลด้วยศรัทธาคติหรือศรัทธาจริตก็เช่นเดียวกัน  ทำให้ไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ควรจะได้ อย่างน้อยก็อาจเป็นข้อสรุปในช่วงขณะนั้นๆ จึงน่าที่จะแยกส่วนศรัทธาให้ออก ไปเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

                และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม นิสิต นักศึกษาผู้สนใจด้านพระพุทธศาสนา จึงมุ่งขวนขวาย แสวงหาความรู้และคำตอบ ซึ่งต้องพิสูจน์เชิงวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านนี้  หาไม่เช่นนั้นแล้ว ก็คงหาความรู้จากแหล่งใดๆ ก็ได้ โดยเฉพาะปัจจุบันมีแหล่งความรู้ที่หลากหลายยิ่งกว่าเมื่อก่อนมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบาทของสถานศึกษา ที่เปิดการศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นไป ก็คือ การเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เรียน ให้ความรู้เชิงกระบวนการหรือวิธีการค้นคว้าและวิจัย ให้งานเชิงวิชาการนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์(กรอบ)อันควรแก่ประโยชน์ มีความสมบูรณ์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ และลุล่วงไปได้ด้วยดี 

ก็แล้วงานวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร จากกรอบความคิด และกรอบการค้นคว้าทางด้านวิชาการข้างต้น?         

 ผู้เขียนขอแยกให้เห็นดังต่อไปนี้

1.ตอบสนองต่อความอยากรู้ของตัวผู้วิจัยค้นคว้าเอง ข้อนี้เป็นสิ่งที่แน่นอนอยู่แล้วว่า งานค้นคว้าวิจัย ต้องตอบสนองต่อความสนใจของตัวผู้ดำเนินการค้นคว้าวิจัย เป็นส่วนใหญ่

2.ตอบคำถามหรือความอยากรู้ของสังคมในประเด็นต่างที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หมายถึง ผู้ค้นคว้าวิจัยหลายคนเลือกเอาประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจ หรือจับตาของสังคมในช่วงขณะนั้นๆ เป็นประเด็นที่สังคมกำลังคำตอบ หรือกำลังตั้งคำถาม

3.เป็นการต่อยอดทางความคิด  การค้นคว้าและวิจัย หรือที่เรียกว่า อารยธรรมหรือภูมิปัญญา ที่มีการทำมาแล้วในอดีต และงานวิชาการที่ได้นี้จะเป็นฐานสำหรับการค้นคว้าและวิจัยในอนาคต

4.เป็นการบูรณาการสังคมชาวพุทธอย่างหนึ่ง เรื่องนี้นับว่าสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับงานทางด้านวิชาการด้านพระพุทธศาสนาอย่างมาก ด้วยเหตุที่งานวิชาการแต่ละชิ้นย่อมนอกจากตอบสนองต่อ 3 ข้อแรกแล้ว การคำนึงถึงผลทางด้านการบูรณาการสังคม เป็นสิ่งที่จะเกื้อกูลให้สังคมเดินไปได้อย่างถูกทาง และเกิดสันติสุขจากความเข้าใจผลของงานวิชาการดังกล่าว  หมายถึงงานวิชาการใดที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานั้น ก็จะมีส่วนให้เกิดการใช้ประโยชน์ ทางใดทางหนึ่งจากงานวิชาการนั้นทันท่วงที  เช่นการนำมากล่าวอ้างอิง หรือใช้งานผ่านสื่อต่างๆได้ เป็นต้น

5.เป็นตัวขับเคลื่อนสังคม นี่เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากงานบูรณาการสังคมของงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งจะก่อให้เกิดกระแสใดๆขึ้นมาก็เป็นได้ เช่น กระแสความสนใจ(นิยม)ต่อปฏิบัติภาวนา กระแสต่อความเข้าใจในเรื่องอัตตาที่เกี่ยวข้องกับความเห็นแก่ตัวในองค์กร หรือชุมชน เป็นต้น ข้อนี้น่าคิดด้วยว่า ผู้ศึกษาเองมุ่งเพียงเอาวุฒิการศึกษาไว้ประดับตัวเอง หรือใช้ปรับวุฒิในการทำงานด้วยความเห็นแก่ตัว หรือต้องการแสวงหาองค์ความรู้ด้านที่สามารถเกื้อกูลให้แก่ผู้อื่น หรือให้แก่สังคมได้ด้วย

6.สามารถอธิบายตอบโต้ปรัปวาทได้  ปรัปวาท คือ ลัทธิศาสนาอื่น  หรือคำสอนที่คลาดเคลื่อน หรือวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น(จากพจนานุกรมพุทธศาตร์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ.ปยตฺโต) เฉพาะในเวลานี้ ผ่านสื่อที่มีอยู่หลากหลายจำนวนมาก มีการวิพากษ์ต่อหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างผิดๆ หรือผิดบ้างถูกบ้างอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน บ้างก็เป็นสัทธรรมปฏิรูป(สัทธรรมปลอมที่ปนอยู่)ก็มี การแก้ข้อกล่าวหาหรือแก้ต่างแทนชาวพุทธ หรือทำความเห็นตรง(ทิฎฐุชุกรรม – หนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ10) ให้เกิดขึ้นกับคนที่วิพากษ์เหล่านั้น รวมถึงคนส่วนอื่นๆพลอยได้รับฟังก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนาและต่อชาวพุทธเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในข้อนี้ นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านพระพุทธศาสนา แม้กระทั่งพระสงฆ์ที่ทรงความรู้จำนวนไม่น้อย ไม่สามารถนำความรู้ที่ตนเองมีอยู่นั้นไปใช้ได้ในการตอบโต้กับปรัปวาทที่ในปัจจุบันมีอยู่จำนวนไม่น้อย นำเสนอความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ ยังความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นกับผู้รับสื่อ ดังนั้น นอกเหนือไปจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวแล้วผู้รู้หรือนักวิชาการเหล่านี้จะต้อง เอาองค์ความรู้มาใช้ได้ในสถานการณ์จริง ในการปกป้องหลักธรรมอันเป็นของแท้ของจริง ( คือ มีที่อ้างมีที่มาถูกต้อง) ของพระพุทธศาสนาอีกด้วยและเมื่อสืบเนื่องต่อไปถึงการใช้สื่อให้เป็น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ก็นับว่าเป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน

ในอดีตเมื่อดูจากประวัติศาตร์พระพุทธศาสนาในหลายยุคหลายสมัย  นับแต่ครั้งพุทธกาลมาแล้วมีการท้าโต้วาทีในทางธรรมวาทีเพื่อเอาชนะกันมาตลอด แม้แต่พระพุทธองค์เองก็หลายครั้ง เช่น กับสัจจกะนิครนถบุตรซึ่งเป็นนักโต้วาทีในสมัยนั้น (ม.มู. ไทย 12/364- 389/401-420 มหาจุฬา) พระที่ท่านบรรลุธรรมแล้ว ท่านก็ยังต้องมารับคำท้าโต้ธรรมวาทีนี้อยู่เสมอๆ ดังเช่น ในสมัยของพระนาคเสน ที่โต้ตอบปัญหาทางธรรมกับกษัตริย์มิลินท์ เป็นต้น เรียกว่าท่านไม่ได้ทิ้งเรื่องพวกนี้ ไปหาความสงบสุขจากการปฏิบัติธรรม แต่เพียงอย่างเดียว

7.ประโยชน์ต่อทัศนะการมองชีวิต มองสังคมและมองโลก งานวิชาการพุทธศาสนา  จะเกิดประโยชน์ต่อการปรับทัศนะหรือการมองสิ่งต่างๆ ทั้งหมด แม้กระทั่งการมองและประเมินตัวเอง ไม่ติดอยู่ในกรอบความคิดของตนเอง หรือกรอบความคิดของใครคนใดคนหนึ่งโดยถ่ายเดียว หมายถึงการเปิดกว้างทางความคิด เพราะหากไปยึดกรอบแบบเดิมเพียงอย่างเดียวแล้ว งานค้นคว้าและวิจัยหลายๆเรื่องก็เดินหน้าไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การให้ค่าของคนทางศีลธรรมโดยนัยเปรียบเทียบ ระหว่างคนที่ดื่มเหล้าทุกวันกับคนที่คอรัปชั่นประเทศใครชั่วกว่า  คนที่ทำบุญตักบาตรทุกวัน แต่ลับหลังประพฤติผิดศีลธรรม  ฯลฯ การมองประเด็นต่างๆต้องเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัย ส่วนกรอบหรือกฎเดิมๆ หมายถึง ทัศนะการมองแบบตีขลุมนั่นเอง เช่น ความเข้าใจต่อคนที่เห็นสวดมนต์หรือไปทำบุญเสมอๆ  แล้วสรุปว่าเป็นคนดีโดยเที่ยงแท้แน่นอน  ดังนี้เป็นต้น

                8.การตั้งข้อสงสัยต่อการกระทำใดก็ตามที่กระทบต่อสังคมหรือส่วนรวมในมุมมองเชิงพุทธ โดยอิงจากหลักธรรมที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา นี่ก็ถือเป็นมุมหนึ่งของประโยชน์ที่เกิดจากงานวิการเชิงพุทธเช่นกัน เช่น การปฏิวัติรัฐประหารในทัศนะทางพระพุทธศาสนา การสั่งให้ทหารทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรัฐหรือผู้บัญชาการทหาร  การเก็บกักตุนสินค้าที่จำเป็นในการบริโภคเพื่อเก็งกำไร การออกกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในทัศนะทางพุทธศาสนา  การนำธุรกิจสุราหรือเบียร์เข้าตลาดหลักทรพย์  เป็นต้น  

9.  ส่งผลต่อนโยบายของรัฐและองค์กรเอกชนด้านพระพุทธศาสนา  หากว่างานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาไปเกี่ยวข้องในส่วนของนโยบายรัฐและองค์กรเอกชนก็จะส่งผลให้รัฐ หรือองค์กรเอกชนเหล่านั้นสามารถใช้ประโยชน์จากงานค้นคว้าวิจัยได้ เช่น ด้านแนวทางการเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์กรต่างๆ  ด้านการศึกษา(วิชา)พระพุทธศาสนา การกำหนดหลักสูตรการศึกษาทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้านการกำหนดงบประมาณที่ใช้ในการเผยแผ่  ฯลฯ ก็เป็นประโยชน์จากงานค้นคว้าวิจัยโดยตรงเช่นกัน

10. ประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  ข้อมูลและข้อเท็จจริงของงการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการสามารถนำมาใช้กับสถาบันสงฆ์ในแง่ของการ ใช้วินิจฉัยเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความร่วมสมัย เพื่อให้องค์กรคณะสงฆ์และบรรดาพระสงฆ์สามารถดำรงบทบาทอย่างเหมาะสมอยู่ในสังคมได้ ขณะเดียวกันก็เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม และการสั่งสอนพุทธบริษัทอีกด้วย

11. ปรับปรุงแก้ไขในส่วนของงานแปลพระไตรปิฏก อรรถถาและหนังสืออธิบายชั้นรองๆลงไป  บางแห่งหากพบว่าการแปลดังกล่าวไม่ถูกต้องก็อาจต้องแก้เสียให้ถูกต้อง หรืออธิบายใหม่ในรูปแบบภาษาร่วมสมัย

12.  ประโยชน์ด้านสุนทรียภาพ งานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาได้ชื่อว่าทำให้เกิดสุนทรียภาพกับตัวของผู้รังสรรค์งานเอง และต่อคนอ่านงานหรือคนที่ได้เอางานวิชาการเรื่องนั้นๆไปใช้ประโยชน์ นอกจากจะได้ประโยชน์โดยตรงในแง่ขององค์ความรู้ที่อยู่ตามเนื้องานตมปกติอยู่แล้ว ทำให้สภาพจิตใจเกิดสุนทรียะได้มากกว่างานวิจัยค้นคว้าในประเภทอื่นๆเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็น่าที่จะแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ อย่างแรก สุนทรียภาพของงานวิชาการที่เป็นองค์ความรู้เพียวๆ หรือหมายถึงเนื้องาน ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัย กับ อย่างที่สอง คือ  สุนทรียภาพของงานวิชาการที่มีธรรมะปนอยู่กับเนื้องานในส่วนแรกด้วย

สรุป  ก็คือ งานวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนานั้น  นั้นก่อให้เกิดประโยชน์เหลือคณาแก่ผู้ที่ค้นคว้าศึกษาตามเหตุและปัจจัยอยู่แล้ว เป็นวิธีการเข้าถึงความจริงอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันกับวิธีอื่นๆที่มีอยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา  ทั้งสามารถโยงเข้าสู่การปฏิบัติตนทั้งในระดับปัจเจก และระดับส่วนรวมได้อีกด้วย แม้ว่าจะไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติด้านสมถะ และวิปัสสนา(ซึ่งผลได้จากการปฏิบัติในสองด้านนี้ ก็เป็นเรื่องภายใน-ปัจจัตตังของแต่ละบุคคล) ตามความหมายตรงก็ตาม แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการด้านบุญกิริยาวัตถุและเป็นการเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้นไป อันเป็นข้อที่ต้องผ่านข้อสำคัญสำหรับเป้าหมายของการเป็นพุทธศาสนิก

เพียงแต่ขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาผู้ค้นคว้าวิจัย ที่ทำงานด้านนี้เองว่า จะสามารถค้นคว้าหาเนื้องานมานำเสนอ แล้วให้ประโยชน์กับตัวเองและสังคมส่วนรวมมากน้อยขนาดไหน

2 ความเห็น

จากอเมริกาถึงตะวันออก

พีร์  พงศ์พิพัฒนพันธุ์ :piralv@yahoo.com

The East bowed low before the blast

ตะวันออกค้อมศีรษะให้อย่างราบคาบต่อเสียงปืน

In patient, deep disdain;

ในท่ามกลางความทะนงตัวอย่างลึกซึ้งและอดทน

She let he legions thunder past,

เธอ(ตะวันออก) ได้ยอมให้กองทหารยาตราทัพผ่านไปอย่างอึงอล

And plunged in thought again.

แล้วเธอก็เข้าสู่ห้วงแห่งการคิดคำนึงต่อไปอีก

 เป็นข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ”พบถิ่นอินเดีย” เขียนโดย บัณฑิต ยวาหระลาล เนรูห์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดีย แปลโดย กรุณา กุศลาสัย

            บัณฑิตเนห์รู ได้ยกข้อความประดุจโศลกหรือบทกวีบทนี้  ให้คนอ่านมองเห็นภาพระหว่างตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะในเรื่องปรัชญาและความเชื่อที่แตกต่างกัน ในช่วงที่ประเทศตะวันตกต่างก็แผ่อิทธิพลผ่านระบอบทหารมายังประเทศตะวันออก และอินเดียเองเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์นี้

              ในตอนเดียวกันของหนังสือเล่มนี้ เนรูห์ เขียนว่า “ อินเดีย(สัญลักษณ์ตะวันออก- ผู้เขียน))ให้เกียรติ แก่การคิดคำนึงและผู้ที่คิดคำนึง หรือที่เรียกกันว่า ผู้คงแก่เรียน เสมอมา อินเดียไม่ยอมพิจารณาให้ความเชื่อ ถือว่าผู้ใช้อาวุธหรือผู้มีทรัพย์สินเงินทองนั้นธำรงคุณค่าสูงกว่าผู้มีปัญญา แม้ในยามตกต่ำทรุดโทรม อินเดียก็ยังยึดมั่นอยู่กับการคิดคำนึงและรู้สึกเป็นสุขใจในการกระทำเช่นนั้น” นับเป็นข้อที่สะท้อนถึงความแตกต่างในด้านความคิด และระบบปรัชญาระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

            ตะวันออก ที่นอกจากจะมีอินเดียอันเป็นแหล่งอารยธรรมของเอเชียแล้ว ยังหมายถึงจีน อีกประเทศที่เป็นแหล่งอารยธรรมแห่งหนึ่งด้วย ส่วนประเทศอื่นๆในเอเชียที่เหลือรวมทั้งไทยที่รับอารยธรรมจากทั้งสองประเทศนี้  ก็รวมเรียกว่า “ตะวันออก”เช่นเดียวกัน

            เป็นความจริงที่ว่า ระหว่างตะวันออกและตะวันตกนั้น ให้คุณค่าหรือความหมายของการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ตะวันออกแต่เดิมก่อนที่จะได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปนั้น ให้ค่าหรือน้ำหนักทางด้านจิตวิญญาณหรือ ค่าทางด้านปัญญามากกว่าค่าในทางวัตถุ

            ค่าทางด้านจิตวิญญาณ หรือค่าทางปัญญา หมายถึงการขบคิดและพยายามทำความเข้าใจในกระบวนการของชีวิตทั้งหลาย ซึ่งตรงกันข้ามกับตะวันตกที่ให้น้ำหนักหรือค่าทางวัตถุมาก่อน และต่อมาวัฒนธรรมตะวันตกเหล่านี้ได้แพร่ขยายออกไปยังตะวันออก  เพราะแม้แต่ประเทศที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมของตะวันออกมาก่อน และมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอย่างอินเดีย และจีน ยังไม่ง่ายนักที่จะต้านกระแสแห่งวัตถุนี้ โดยที่เงินตรากลายเป็นปัจจยาการแห่งวัตถุที่สำคัญ คล้ายเป็นตัวแทนของระบบตะวันตกไป

            ที่อเมริกาคำว่า Oriental  ได้ยินกันมากขึ้นเรื่อยๆ คำๆนี้ใช้กันหลากวัตถุประสงค์ อเมริกันส่วนหนึ่งกำลังหันหน้าไปทางตะวันออก ศาตร์หลายอย่างของตะวันออกกำลังได้ความสนใจจากอเมริกัน ไม่ว่า จะเป็นศาตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ปรัชญา การดูแลกาย จิตใจ และการบำบัดรักษาโรค เป็นเรื่องที่อเมริกันเพิ่มความสนใจขึ้นอย่างมากในช่วง 15 ปีกว่าที่ผ่านมา 

            ตัวอย่าง ในเรื่องการบำบัดรักษาโรค จะเห็นได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้หน่วยงานของทางการอเมริกันที่เกี่ยวข้องได้จัดวิชาแพทย์จีนแขนงการฝังเข็ม ให้อยู่ระบบวิชาชีพแพทย์ เหมือนแพทย์ในสาขาต่างๆโดยทั่วไป โดยแพทย์หรือหมอฝังเข็มต้องได้ใบอนุญาตประกอบการแพทย์จาก คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อประกาศนียบัตรแห่งการฝังเข็มและการแพทย์แผนตะวันออก (National Commission for the Certification of Acupuncture and Oriental Medicine) นั่นคือ จะต้องผ่านการสอบทั้งข้อเขียน และภาคปฏิบัติจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว จึงสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ และหากได้ใบอนุญาตดังกล่าวแล้วก็ย่อมมีสิทธิทุกอย่างเท่าเทียมกับแพทย์สาขาอื่นๆโดยทั่วไป

            ขณะเดียวกันในอเมริกาเวลานี้ ผู้คนยังนิยมในเรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพรอีกด้วย หากแต่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเสียเป็นส่วนใหญ่ ร้านค้าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง  (Health products หรือ Health food)  กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น มีเชน(Chain)  หรือเฟรนไชน์   เกิดขึ้นมากมาย

            ไม่รวมถึงการศึกษาค้นคว้าศาตร์ตะวันออก อย่างอายุรเวช   การนวด โยคะปฏิบัติ และสมาธิ อเมริกันจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าไปศึกษาวิชาตะวันออกที่จีนและอินเดีย อันเป็นประเทศแม่แบบของอารยธรรมที่ลุ่มลึกนี้ ขณะเดียวกับอเมริกันในประเทศที่ไม่ได้เดินทางไปค้นคว้าศึกษาข้างนอกเองก็ได้ศึกษา และฝึกปฏิบัติกับผู้รู้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เห็นได้จากการที่เจ้าสำนักต่างๆ จากอินเดีย และจีน รวมกระชาติที่นับถือพุทธศาสนา อย่างไทย เวียดนาม  ทิเบต ฯลฯ ได้รับการเชื้อเชิญไปพูดหรือฝึกปฏิบัติให้คนอเมริกัน  ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าศาตร์ตะวันออกกำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย

            สถานออกกำลังกาย หรือฟิตเนส คลับ แทบทุกที่เวลานี้ มีการฝึกสอนปฏิบัติโยคะ ในหลายรูปแบบ รวมทั้งไทเก๊ก ทั้งหมดมีตำรับตำราให้ศึกษาค้นคว้าทั่วไป ทั้งร้านขายหนังสือ และห้องสมุด ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศาตร์ตะวันออกหลายอย่าง  เช่น การเขียนตำราหรือคู่มือปฏิบัติ และการออกวีซีดี หรือดีวีดีการฝึกปฏิบัติเหล่านี้มาขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนกลายเป็นธุรกิจที่เติบใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างแทบไม่เคยเกิดขึ้นในยุคไหน และด้วยเหตุนี้ทำให้มี “ลูกตะวันออก”  หรือลูกหลานชาวเอเชียในอเมริกาอยู่หลายกลุ่มที่สนใจ และกลับไปศึกษาต้นแบบของศาตร์ตะวันออกเหล่านี้

            ความจริงแล้วการศึกษาค้นคว้าศาตร์ตะวันออกสำหรับอเมริกันแล้วไม่ง่ายนัก เพราะเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังภายในสภาวะจิตเบื้องลึกนับแต่เด็กเกิดและโต เป็นคล้ายๆกับสภาพแวดล้อมที่พวกเขารับมาตั้งแต่เกิดนั่นเอง การจะเปลี่ยนแปลงสภาวะดังกล่าวย่อมไม่ใช้เรื่องง่าย  เหมือนกับการล้างซิมการ์ด ออกทั้งหมด

อย่างไรก็ตามอเมริกันหลายคนหาได้ย่อท้อที่จะศึกษากันไม่ แม้สิ่งที่ได้รับ อาจผิดบ้างถูกบ้างก็ตาม แต่เพื่อการแสวงหาประสบการณ์ และความรู้ใหม่ที่สนใจ พวกเขาก็ยอมรับยอมทนกันได้

            ในช่วงที่ผ่านมาหลายปี เจ้าสำนักต่างๆ กระทั่งลูกศิษย์ของเจ้าสำนักจากประเทศตะวันออกเดินทาง หรือเปิดสอนวิชาความรู้ของตะวันออกในอเมริกา โยคีจากอินเดียก็ไปสอนที่อเมริกาจำนวนมาก  โยคีบางคนก็ร่ำรวยด้วยลาภสักการะจากคนอเมริกัน จนกระทั่งเกิดปัญหาในแง่ในการสะสมวัตถุ  และนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธา  ล่มจมในที่สุด

            การสอนภาควิชาการ หรือปฏิบัติแห่งศาตร์ตะวันออก ในอเมริกา จึงต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะอเมริกาเกิดและโตจากระบบทุนนิยม  กระบวนทัศน์เกือบทั้งหมดอนุวัตร ไปตามกลไกแห่งทุน ซึ่งต่างจากวิถีตะวันออกที่เป็นไปตามกลไกภายใน ที่เรียกกันว่า จิตวิญญาณ

            การถือวัตถุเป็นที่ตั้งทำให้อเมริกัน  (หรืออาจเหมารวมเรียกว่า ตะวันตก) สร้างกลไกลเพื่อปกป้องตนเอง มองตนเองสำคัญอันดับหนึ่ง นำไปสู่กระบวนการจัดการเพื่อเสริมร้างความมั่นคง ไม่ว่าการเก็บสะสม หรือการป้องกันภัย หรืออีกนัยยะ คือ การสร้าง “ระบบการสะสม”ของตะวันตก ซึ่งหมายถึง การสะสมทรัพย์ เครื่องอุปโภค บริโภค ในทำนองมือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อเอาหรือได้มาแล้วก็มีการเก็บกักตุนเกิดขึ้น

ขณะที่ด้านความมั่นคงของชีวิตของคนตะวันตกนั้น มองได้ตั้งแต่ “ระดับปัจเจก” ซึ่งหมายถึงการป้องกันตนเองจากการคุกคามของศัตรูที่เป็นมนุษย์ สัตว์ และภัยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนาศักยภาพของอาวุธประเภทต่างๆไล่ตั้งแต่ระดับ มีด ตลอดไปจนถึงปืนผาชนิดต่างๆ ล้วนแต่เพื่อป้องกันตนเอง จากความวิตกหวาดกลัวทั้งสิ้น

ส่วน“ระดับการป้องกันภัยหรือความมั่นคงในแง่ส่วนรวม” ก็เป็นที่มา หรือกำเนิดระบบทหาร และอาวุธโธปกรณ์ที่มีแสนยานุภาพร้ายแรง สามารถทำลายล้างชีวิต ได้เป็นหมื่นเป็นแสน โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจต่อระบบศีลธรรมพื้นฐานแต่อย่างใด

ลึกลงไปในรายละเอียดการป้องกันตนเองในแง่ปัจเจก กรณีการมี “มีด” ของคนตะวันออกเพียงเพื่อการดำรงชีพ หรือการอาชีพ  และป้องกันตัวเองจากภัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์  แต่นัยยะของ “มีด”ของอเมริกันหรือผู้คนตะวันตก นอกเหนือจากการงานอาชีพ และป้องกันตนเองจากผองภัยทั้งหลายแล้ว ยังหมายถึงการสำแดงแสนยานุภาพของคนๆนั้นอีกด้วยว่าเขาสามารถล่วงล้ำก้ำเกิน สยบคนอื่นได้มากขนาดไหน

“มีด”สำหรับเขา(ตะวันตก)จึงไม่ได้มีความหมายแค่เพียงการป้องกันตัวเท่านั้น แต่หมายถึงอำนาจที่เขาสามารถแสดงว่าเหนือกว่าคนอื่นรวมไปด้วย จนกระทั่ง “มีด” อย่างเดียวมีอานุภาพที่จะเหนือกว่าคนอื่นไม่เพียงพอ เขาจึงคิดพัฒนาอาวุธชนิดใหม่ขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่า “มีด” รอจนกระทั่งเกิดมี “ปืน” ขึ้น  คนที่มีปืนย่อมเหนือกว่าคนที่มี “มีด” เขาย่อมรู้สึกเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นที่มีแค่ “มีด” แหละนี่เป็นอำนาจที่เกิดจากการสามารถทำร้ายผู้คนได้โดยไม่อิงติดกับระบบศีลธรรมเบื้องต้น

                แต่การมองของตะวันออก นอกเหนือจาก ความจำเป็นที่จะต้องมี “มีด”เพื่อประโยชน์ใช้สอยแล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น  ตะวันออกจะไม่ใช้มีดไปล่วงล้ำก้ำเกินจนก่อให้เกิดให้อันตรายกับคนอื่นที่ไม่ใช่ศัตรูที่จะมาทำร้ายเขา และเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพัฒนาอาวุธประเภทอื่นให้มีศักยภาพเหนือกว่า “มีด”มากนัก “มีด” เพียงอย่างเดียวก็พอเพียงที่เขาจะต่อกรกับศัตรูที่มาล่วงล้ำได้  โดยที่เขาตระหนักว่า จิตใจนั้นสำคัญและมาก่อน  อีกความหมายคือ การต่อสู้ทางจิตใจหรือสติปัญญาต้องมาก่อน   ก่อนที่จะมีการต่อสู้กันด้วยกำลัง  หากฝ่ายตรงกันข้าม หรือศัตรูจะใช้ “มีด”สู้เสมอด้วย ก็ถือเป็นความยุติธรรมของการต่อสู้ ไม่ว่า คนชนะหรือแพ้ย่อมได้รับเกียรติยกย่องด้วยกันทั้งสองฝ่าย

                นอกจากนี้การมองของตะวันออกยังไปถึงขั้นที่เรียกว่า “ปืน”ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งวัตถุ  อาจสามารถทำลายวัตถุด้วยกันได้ แต่ “ปืน” ไม่สามารถทำลาย “สภาวะ” หรือ “จิตวิญญาณ”ได้เลย เพราะฉะนั้น ความจริงแล้วตะวันออกไม่เคยกลัวปืน  แต่แนวคิดตะวันออกแบบดั้งเดิมกลัวเปื้อน “มลทินทางวัตถุ”มากกว่า

                ตะวันออกเข้าใจต่อ “วัตถุ” เหมือนกับการเข้าใจต่อ“สภาวะ”  แต่ไม่ถือว่าการเข้าใจ “วัตถุ” เพียงอย่างเดียวเป็นความสำเร็จหรือถึงเป้าหมายของชีวิตทั้งในเชิงปัจเจกและส่วนรวมแล้ว ไม่เหมือนอเมริกันหรือตะวันตก ที่นับถือการเข้าถึงความสำเร็จเชิง “วัตถุ”เป็นที่ตั้งสถานเดียว เพราะฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพของอาวุธจึงเปลี่ยนจากมีด ไปเป็นปืน  เป็นปืนใหญ่ กระทั่งเป็นระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรงในที่สุด อย่างไม่แยแสต่อระบบศีลธรรม ซึ่งเป็นกรอบภายนอกของ “สภาวะ” หรือเป็นเนื้อหาทางด้าน “จิตวิญญาณ”

                กล่าวอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ “ระบบปืน”  ของชาวตะวันตกนั้นทำลายวัตถุด้วยกันได้ แต่ไม่สามารถทำลาย “ระบบสภาวะ” ที่ชาวตะวันออกนับถือได้ แม้จะใช้วิธีการใดๆก็ตาม  และจากประสบการณ์หรือประวัติศาตร์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ระบบปืน”ไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนแต่อย่างใด แม้จนถึงขณะนี้อเมริกันหรือตะวันตก ในระดับปัจเจกก็ยังมีปัญหาการคุกคามทั้งภายในและภายนอกตัวเอง ในระดับมหภาคหรือระดับชุมชนประเทศ ก็กล่าวได้ว่า ยังมีการคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อันเป็นผลมาจากการใช้ “ระบบปืน”เข้าไปจัดการกับปัญหาและทุกๆอย่างนั่นเอง

                เวลานี้อเมริกันจำนวนมากหันหน้าไปทางตะวันออก แม้ส่วนหนึ่งของจำนวนดังกล่าว จะไม่ได้หยั่งลึกถึงรากเหง้าของตะวันออก แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจยิ่ง กระทั่งการจัดระบบการใช้ชีวิตประจำวันของเมริกันทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน ในขณะนี้ในหลายๆอย่างใช้ศาตร์ตะวันออกช่วยจัดการ อย่างเช่น กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการผ่อนคลายความเครียด  ในแง่การทำธุรกิจศาตร์โบราณของจีนอย่างฮวงจุ้ย ได้ถูกนำมาใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีมูลค่านับพันล้านเหรียญหลายเมืองในอเมริกา เช่น การออกแบบโรงแรมเอ็มจีเอ็ม แกรนด์ (MGM Grand Hotel & Casino) โรมแรมวินน์ (Wynn Resort &Casino) ที่ลาสเวกัส เป็นต้น

                ภาพที่เห็นจากสำนักข่าวเอพี ซึ่งเป็นภาพการเผาศพ Maharishi Mahesh Yogi เจ้าของตำรับการฝึกสมาธิแบบทีเอ็ม (TM-Transcendental Meditation) เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์  2008 ที่จุดบรรจบกันของแม่น้ำคงคากับแม่น้ำยมุนา โดยมีคนตะวันตก รวมทั้งคนอเมริกันจำนวนมากไปร่วมงานพิธีนับเป็นภาพที่สะท้อนถึงการให้ความสนใจถึง “กระบวนการแห่งสภาวะ” ในวิถีตะวันออก  ภาพที่เห็นนั้น ร่างของโยคี Mahesh ห่อด้วยผ้าสีเหลือง  นอนอยู่บนกองฟืนที่จัดวางเรียงซ้อนกัน ก่อนที่พวกลูกศิษย์จะร่วมกันจุดไฟเผาศพของเขาต่อจากนั้น แล้วทุกอย่างก็จบกัน  เพียงแต่ฉากหรือภาพที่เห็นนั้น สะท้อนถึงวิถีชีวิตตะวันออก ในแง่ของธรรมชาติและความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเรื่องของความรู้สึกภายใน (Sense)ของตะวันออก ที่มองกระบวนการต่างๆของชีวิตใน เชิง“สภาวะ” ที่เลยนอกเหนือไปจากชั้น “วัตถุ”  โดยที่ในส่วนของพิธีกรรมแทบทั้งหมดกระทำกันอย่างเปิดเผย เหมือนเป็นขั้นตอนธรรมดาขั้นตอนหนึ่งของชีวิต

                ที่ริมแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำอีกหลายสายในอินเดีย  แม้เวลานี้ก็ยังมีการจัดการพิธีศพแบบเปิดเผยและเรียบง่าย การตายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งความเป็นไปของชีวิต ภาพร่างวัตถุที่นอนแข็งทื่อบนกองฟืนเตรียมเผามีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา นอกเหนือไปจากการสำเหนียกถึงความใกล้ชิดกับความตายของชาวตะวันออก(อินเดีย) จนก่อให้เกิดลักษณะการจัดการในเรื่องพิธีกรรมอย่างเข้าใจต่อ “สภาวะ” เป็นอย่างยิ่ง

                ความหมายในเชิงวัตถุ  ตายแล้วก็เป็นอันจบกัน หากแต่ในแง่ของ “สภาวะ” แล้วมองลึกไปกว่านั้นมากสำหรับ “สภาวะ” แล้วย่อมสูงกว่า “ปืน”หรืออาวุธใดๆในโลก(วัตถุ)ทั้งสิ้น การเข้าถึง”สภาวะ” มีแต่แนวทางเดียวคือผ่านการกลั่นกรองจากกระบวนภายใน(สติปัญญา)เท่านั้น กระบวนการภายนอกหรืออีกนัย กระบวนการแห่งวัตถุไม่สามารถใช้เพื่อเข้าถึงตัว “สภาวะ”ได้เลย   

                โครงสร้างของระบบทุนของอเมริกาที่ทับถมกันซับซ้อนกันมาเนิ่นนาน เป็นเหตุให้อเมริกันจำนวนมากถอนตัวและมองเห็น “สภาวะ”ได้ยาก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ตระหนักถึงโทษภัยที่อยู่ภายใต้ระบบทุนอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนดังกล่าว

ประเด็นที่คนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบวัตถุไม่ค่อยได้คำนึง คือ การสิ้นสุดของชีวิต  เพราะคนเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาในทางวัตถุ ดังนั้นจึงใช้วัตถุตอบสนองทุกความต้องการ จนลืมไปว่าวัตถุที่ใช้นั้น ย่อมมีวันเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถควบคุมได้ และต้องสิ้นสุดลงในวันใดวันหนึ่ง พวกเขามักรับไม่ได้กับกระบวนการอันเป็นข้อเท็จจริงของชีวิตอันเป็นธรรมชาติ จนเป็นเหตุให้ตกอยู่ในอาการพิราบรำพันไปต่างๆนานา

คนตะวันออกหลายคนที่ไปปักหลักทำมาหากินในอเมริกา ตั้งคำถาม ซึ่งเป็นคำถามยอดนิยมคำถามหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตที่เหลือในช่วงสุดท้ายว่า พวกเขาจะเตรียมตัวตายกันที่ไหน จะไปตายที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองหรือตายที่อเมริกา

แน่นอนล่ะ ในข้อเท็จจริงแล้ว สำหรับการตาย ไม่มีใครสามารถเลือกสถานที่ หรือเวลาได้

 แต่การเตรียมตัวตายอย่างมีความสุข เพื่อเข้าสู่”สภาวะ”ที่ถูกต้องนั้น ตะวันออกมีการกล่าวถึงกันมานานนับพันปี  และไม่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะทำได้

เพราะสำหรับคนธรรมดาแล้ว การตายเป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนจะต้องผ่าน ความสุขจากการคำนึงเพื่อเตรียมตัวตายในบางเรื่อง อย่างเช่น การคำนึงถึงบรรพบุรุษของตนว่า พวกเขาเหล่านั้นก็ได้ตายและเผา(หรือฝัง)กันตรงสถานที่นั้น สถานที่นี้ และต่อไปสถานที่แห่งนั้นแห่งนี้ก็ต้องเป็นที่ของตัวเราเองบ้าง ทำให้ความตายดูเหมือนขั้นตอนปกติของชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่หวาดกลัวเสียเหลือเกิน แต่เป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้อย่างปกติสุข ไม่เป็นทุกข์ไปกับมันมากนัก

ตะวันออกสอนเรื่องการเตรียมตัวตายกันมานาน มีหลักการที่ชัดเจนและสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ

อเมริกันก็หาได้เลยพ้นไปจากความตายอันเป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิต  แต่ในโลกแห่งวัตถุ พวกเขามีวิธีการรับมือที่แตกต่างไปจากวิธีการของตะวันออก หรือบางทีอาจกล่าวได้ว่า วิธีการรับมือของพวกเขา เหมือนไม่เป็นวิธีการรับมือกับความตายเอาเสียเลย แต่น่าจะเป็นการปล่อยเลยตามเลยเสียมากกว่า เพราะวิธีการที่ว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิด “ความต้องการที่จะยืดเวลาการล่มสลายของวัตถุธาตุ” คือ พยายามที่จะไม่พูดถึงการเตรียมตัวตาย หรือหากคนใดต้องตายก็ต้องดึงรั้งกันสุดกำลัง โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ ตะวันออกคำนึงกัน นั่นคือ “ตัวสภาวะ”

ความตายในความหมายของอเมริกันหรือตะวันตก(อาจใช้ในเชิงความหมายของระบบแพทย์แผนปัจจุบัน) จึงเป็นสักแต่วัตถุ แต่ความหมายของตะวันออก ความตายเป็นเรื่องของสภาวะ

เพิ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ที่ข้อคำนึงในเรื่องวิถีแห่งความตายของอเมริกัน(หรือตะวันตก) ได้เปลี่ยนไป จากการมองแค่กระบวนการวัตถุเพียวๆ เบนไปสู่กระบวนการที่เป็นสภาวะมากขึ้น ในอเมริกามีการพูดถึงการเตรียมตัว หรือรับมือกับความตายในเชิงระบบการจัดการจากภายใน หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิต

ทั้งหมดนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า ข้อคำนึงแบบตะวันออก ที่อยู่ในช่วงอัสดงมานานปี จากอิทธิพลของอเมริกาและประเทศตะวันตก กำลังฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

เป็นตะวันออกที่รุ่มรวยไปด้วยสติปัญญาแห่งการเข้าถึง “สภาวะ” ชนิดที่อารยธรรมตะวันตกไม่เคยมีให้มาก่อน…

ใส่ความเห็น

สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะในทางการเมือง

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ : piralv@yahoo.com

ในโลกนี้มีความจริงอยู่ 2 อย่างคือ สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ(ทัศนะของพุทธเถรวาท) หากมองในเชิงการเมืองก็อย่างเช่นการกำ​หนดนโยบายต่างๆ การดำเนินกิจกรรมใดๆย่อมเกี่ยวข​้องกับสัจจะทั้งสองอย่างเลี่ยงไ​ม่ได้ สุดแท้แต่ว่าจะให้น้ำหนักด้านไห​นมากกว่ากัน หากมุ่งด้านสมมติสัจจะก็จะไปทาง(เรื่อง)โ​ลก “ตาเนื้อ” เช่น ให้ความสำคัญต่อเรื่องประชานิยม(หมายถึงผู้ที่ให้ความสำคัญนี้เป็นทั้งในส่วนของนักการเมืองและประชาชนในประเทศ) เป็นต้น หากเป็นด้านปรมัตถ์ก็เป็น”ตาใน” คือให้ประชาชนรู้เท่าทันต่อสิ่งต่า​งๆ หรือรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ได้แก่ ความรู้เชิงลึก วิชาการเกี่ยวกับความจริงทางการเมืองทั้งหมด ทั้งที่ซับซ้อน(เชิงลึก)และไม่ซับซ้อน

เกี่ยวกับการมองโลกหรือก​ารใช้ชีวิตให้เป็น ซึ่งทางพุทธเรียกว่า หลักของทางสายกลาง(มัชฌิมาป​ฏิปทา) หากหนักไปทางใดทางหนึ่งก็ได​้ชื่อว่า ใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง การมองโลกที่ว่านี้เป็นอย่า​งไร เปรียบเทียบในแง่ทางการเมือ​งก็ย่อมจะได้ สัจจะทั้งสอง มีอยู่จริง และเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง​ทางด้านความคิดเห็นตามบุคคล​และตามสถานที่ต่างๆอยู่เนือ​งๆ

ในแง่สมมติสัจจะ ก็คือ การดำรงอยู่ ความต้องการดำรงอยู่ ความเป็นตัวตนที่เห็นได้ทางตาเ​นื้อ หากประชาชนหรือนักการเมืองไม่เข้าใจต่อเรื่องนี้ ก็ทำให้เกิดความไม่สมดุลคือ​ ให้ทุกข์ให้โทษต่อตัวเองและผู้อื่นในสังคมร่วมได้​ เพราะนี่ยังเป็นเรื่องของโลก​ พรรคที่การเมืองเองหากต้องการที่​จะได้รับการเลือกตั้งครั้งต่อ​ไป ก็ต้องเอาใจประชา จนเกิดเป็นประชานิยมกันขึ้น​มา ซึ่งก็เป็นกันทั่วโลก สุดแท้แต่ว่า มากน้อย แม้กระทั่งประเทศที่ปกครองด้ยระบอบคอมมิวนิสต์​ก็ไม่มีเว้น หากไม่เช่นนั้นแล้วรัฐบาลหร​ือผู้ปกครองก็ดำรงอยู่ได้ไม​่นานเช่นกัน

ในส่วนของปรมัตถ์ หรือตาใน พูดเปรียบเทียบในแง่การเมื​อง หมายถึงความเข​้าใจต่อระบบการเมือง และส่วนที่เกี่ยวโยงกับการเ​มืองในระดับลึก หรืออาจเป็นในเชิงเทคนิคการคิดแบบ​แยกส่วน(วิภัชวาท) อาศัย การวิเคราะห์ วิจัย ในระดับที่ลึกซึ้ง ซึ่งผลที่ออกมาก็ย่อมมีทั้งดีและไม่ดีปนคละเคล้า​กันไป จึงต้องนำมาเลือก คัดกรองในส่วนที่เห็นว่าดี ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเช่น ความไม่ง่ายสำหรับคนทั่วไปใ​นการมองถึงนโยบาย หรือโครงการ (ทุกนโยบายเ​กี่ยวพันถึงผลประโยชน์ได้-เ​สีย ของพรรคการเมืองและของประชาชน) ของพรรคก​าร เมืองว่า ส่งผลกระทบต่อส่วนตัวและสัง​คมในระยะสั้น ระยะยาวอย่างไร เหตุปัจจัยเชื่อมโยง ตลอดถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม หากคำนึงกันถึงแง่ปรมัตถ์​ เพียงอย่างเดียวโดยไม่เอาสมมติแล้ว  การใช้ชีวิต หรือการจะได้มาซึ่งการนำนโย​บาย หรือความต้องการในการบริหาร​ประเทศ ก็ย่อมเกิดขึ้นยาก หมายถึงหากเข้าใจต่อชีวิตแ​ละโลกอย่างตรงและเข้ากับความเป็นจร​ิง พรรคการเมืองและนักการเมืองก็มีโอกาส ได้ตำแหน่งทางการเมืองสูง หรือที่เรียกว่าการเล่นไปตามกระแสสังคมนั่นเอง แต่หากไม่เข้าใจ พรรคการเมืองหรือนักการเมืองก็มีโอก​าสน้อยในการดำเนินกิจกรรมทางการ​เมืองตามที่ตัวเองประสงค์ ผลก็คือ ไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนนั่นเอง

เมื่อพิจารณาถึงความสมดุลหรือหลักทางสายกลางแล้ว งานด้านการเมืองจึงต้องเข้า​ใจในสัจจะทั้งสองข้อที่ว่า ในมุมมองพระพุทธศาสนา เสมือนการเผยแผ่ธรรมของพระพ​ุทธองค์ หลักปรมัตถ์ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจไ​ด้ยากส่วนหลักสมมตินั้นพูดง่ายกว่า เพราะเห็นด้วยตา และโดยผัสสะทั่วไป แต่หากมองเรื่องการเผยแผ่หลั​กคำสอนให้ได้ผลอย่างกว้างขว​างแล้ว พระพุทธองค์ทรงใช้ทั้งสองหลักในการแจกแจงธรรม ต่อคนที่ทรงคิดว่าพวกเขารับได้ ในหลากหลายร​ะดับ การเผยแผ่จึงได้ผลอย่างมากในยุคนั้นและยุคต่อๆมาที่เหล่าพระสาวกได้นำหลักการเดียวกันนี้มาใช้

คำว่า”ประชาธิปไตย” ยังเป็นเพียงแต่ ตาเนื้อ เพราะดำเนินไปตามเสียง หรือจริต หรือแฟชั่น(ความนิยมเป็นยุค​ๆไป) เพียงแต่เราไม่มีระบบอื่นใด​ ที่จะกระทำการตามความต้องกา​รของมวลชนได้ดีไปกว่านี้

นี้ขอให้ได้คิดว่า แม้แต่ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็เป็นประชาธิปไตยเชิงหนึ่ง คือ คนส่วนใหญ่ในประเทศเขาต้องก​ารระบอบนี้ ไม่เช่นนั้น ระบอบคอมมิวนิสต์นี้ ก็คงล้มไปตั้งนานแล้ว หากว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ​ หรือทำให้พวกเขาเดือดร้อน แม้รัฐบาลจะเผด็จการเพียงใด​ก็ตาม ก็ไม่อาจอยู่ได้ยาวนานเลย สามารถพิจารณาสอบสวนได้จากเ​หตุการณ์ส่วนใหญ่ในประวัติศ​าตร์

ส่วนที่มีการพูดเรื่องของธรร​มาธิปไตย(อยู่ในชั้นปรมัตถ์​หรือตาใน) นี้ก็มีอยู่จริง แต่เป็นแค่อุดมคติทางการปกค​รองหรือ ในจินตนาการการปกครองเท่านั​้น ทำได้จริงในแง่ปัจเจกเท่านั้น คือ โดยรวมแล้วไม่สามารถทำเป็นร​ะบอบการปกครองได้ เพราะคนประกอบไปด้วยนานาจิต​ตัง นานาสังวาส เป็นเรื่องกระบวนการภายใน จึงล่าสุด ระบอบประชาธิปไตยน่าจะเป็นระบอบท​ี่ดีที่สุด เท่าที่สามารถปฏิบัติหรือใช้ได้​จริงในแง่ของสมมติสัจจะ ในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ควรที่จะขวนขวาย ส่งเสริม ให้คนหรือประชาชนได้เข้าถึง​ปรมัตถสัจจะทางการเมืองกันใ​ห้มากขึ้น เข้าใจแยกแยะ วิเคราะห์ วิจัย ให้รู้เท่าทันนอกเหนือไปจาก​สมมติสัจจะ ที่เห็นง่าย และอาจกลายเป็นพวกมากลากไป  ถึงแม้พวกมากลากไป(ประชาธิป​ไตย หรือโลกาธิปไตย) ก็ขอให้รู้เท่าทันว่า อ๋อ นี่ระบอบนี้ มันคือ พวกมากลากไป หากรู้ในระดับนี้ได้การใช้ช​ีวิตท่ามกลางดงการเมืองที่เ​ราไม่มีวันปฏิเสธได้ก็จะสมบ​ูรณ์มากขึ้น ลดข้อขัดแย้งในเชิงการเมือง​ลงได้มากขึ้น นั่นเอง

รวมถึงลดความทุกข์ ของตัวเอง จากสิ่งต่างๆ เช่น ความคาดหวังต่อระบอบ ต่อนักการเมือง ต่อรัฐบาล ทำไมต้องเป็น(พวก)เขา ไม่เป็น(พวก)เรา ฯลฯ ได้มากเช่นเดียวกัน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ระบอบใดๆในโลก มันก็ไม่สมบูรณ์ สมความต้องการของทุกคนไปได้​อยู่ดี อย่างผู้ปกครอง นี่ไม่มีก็ไม่ได้ มันจะอิรุงตุงนังไปหมด กลายเป็นอนาคิสต์ไป ขอให้รู้ว่ากำลังเล่นกันอยู​่สมมติสัจจะ , เพื่อขจัดความทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์ที่เกิดจากควา​มขัดแย้งด้านความคิด และด้านปฏิบัติการ จนนำไปสู่การเบียดเบียนซึ่ง​กันและกัน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ที่น่าคิดและน่าสนใจมากๆ ก็คือ การเมืองเป็นหลักเดียวกับหลักปฏ​ิจจสมุปบาท หรือหลักวงจรสัมพันธ์เกี่ยว​โยง หรือปัจจยาการ ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ คนหรือประชาชนกำหนดระบอบของ​พวกเอง คนนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นคนส​่วนใหญ่ หรือมหาชน คนหมายถึงอะไร หมายถึงชีวิต จารีต วัฒนธรรม ประเพณี เช่น พอพูดถึงคนไทยก็รู้เลยว่า นี่คนไทย ไม่ได้มองแค่ชีวิต(ชีวะ) เพียอย่างเดียว มองถึงวิถีชีวิตด้วย ก็หากเป็นเช่นนี้ เมื่อพูดถึงกฎเกณฑ์แห่งประช​าธิปไตยของคนแล้วก็ย่อมแตกต่างกันออกไ​ป ตามวิถีชีวิตของชนเหล่านั้น​ ผมหมายถึงไม่สามารถมองแบบตั​ดตอนวงจรปัจจยาการนี้ได้เลย เช่น นักการเมืองเป็นอย่างไร ประชาชนก็เป็นอย่างนั้น เป็นต้น นี่ไม่ได้หมายถึงทุกคน แต่หมายถึงว่าประชาชนหรือสังคมร่วมส่วนให​ญ่เขาเป็นกันอย่างนี้

ส่วนหากจะเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้​งและวิธีการจัดการเลือกตั้งไม่เหมือนอย่างปัจจุบัน ย่อมหมายถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศจะต้องเ​อาด้วย ถ้ามีคนนำเสนอ ทีนี้มันไปไม่ถึงแบบที่ว่า หมายความว่า คนส่วนใหญ่ยังมองไม่ออกถึงปรมัต​ถสัจจะบางตัว ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก มองเห็นได้ยา​ก ส่วนใหญ่มองแค่สมมติสัจจ​ะในกาลปัจจุบัน ก็เพราะส่วนใหญ่ยังเห็นเป็นเช่นนี้ ถึงมีการเสนอการเลือกตั้งแบ​บนี้(ปัจจุบัน)ออกมา ยอมรับรูปแบบนี้กันได้ ​ แสดงว่าเขายังรับแรงเสียดทา​นทางการเมืองบางประการได้ อย่างเช่น “กรณีเงินหรือตำแหน่งเป็นใหญ่หรือเป็นช่องทางในก​ารได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมื​อง”ได้อยู่ กติกาการเมืองถึงไม่เปลี่ยนไปไหน ยังคงใช้อยู่ แต่หากว่า ประชาชน ทนแรงเสียดทานนี้ไม่ไหว มันก็ต้องเปลี่ยนไป ไม่ช้าก็เร็ว

แนวปรมัตถธรรมทางก​ารเมือง คนส่วนใหญ่เห็นยาก เข้าใจยาก และทำยาก ผมมองว่า การใช้ชีวิตในโล​กให้มีความสุขพอสมควรนี่ คนต้องเข้าใจทั้งสองอย่าง คือ สมมติกับปรมัตถ์ เพราะมันมี สองซีก ที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง จะละเลยไม่เข้าใจก็ไม่ได้ แบบสมมติสัจจะน่ะ เราเห็นกันอยู่แล้วด้วยตาเป​็นๆ เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเห้​นกัน แต่เราไปฝืนไม่ได้ เพาะเรายังอยู่กับชาวบ้านเหล่านี้ หรือสังคมไปจนกระทั่ง​ตาย หากไปฝืนมันก็เป็นทุข์ทางคว​ามคิด แต่หากไม่ฝืน หรือส่งสัญญาณใดๆออกมาเลย การเมืองในภาคปรมัตถ์ ก็เกิดมีขึ้นแก่หมู่ชนไม่ได​้

ผมอยากจะเสริมอีกนิดหนึ่งคื​อ ราชาธิปไตย หรือการปกครองแบบราชา แบบบุราณมาแล้วนี่ คือ การปกครองแบบประชาธิปไตย  ราชา รากศัพท์เดิม แปลว่าพอใจ ต่อมา แผลงเป็นหัวหน้า หรือผู้นำ เพราะราชาสมัยเมื่อก่อนได้จากเสียงหรือมติของคนส​่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีตำแห​น่งนี้ คือ ประชาชนให้ด้วยความพึงพอใจนั่นเอง ไม่พอใจก็ ทุราชา ประชาชน ก็ขับไล่ออกไป เปลี่ยนคนใหม่แทน เพียงแต่ไม่มีวาระ 4 หรือ 6 ปีเหมือนนักการเมืองหรือตำแหน่งต่างๆที่มีเป็นวาระๆอย่างปัจจุบัน ราชาสมัยครั้งกระโน้นเรียกได้ว่าอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งคนส่วนใหญไ​ม่พอใจ จะสืบทอดไปถึงลูกหลานก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่ต้องคงความพอใ​จอยู่ จึงจะอยู่ในตำแหน่งได้ เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าประชาธ​ิปไตย เป็นพื้นฐาน หรือยิ่งใหญ่มาสมัยไหนต่อไห​นแล้ว

สมมติ คือ สิ่งที่ตกลงร่วมกัน เช่น ให้ชื่อ ว่าร่างกาย ให้ชื่อว่า ประชาธิปไตย พอพูดขึ้นมานี่ โอ๊ะ มันเป็นที่รับรู้กันเลย แต่ปรมัตถ์เนี่ย บอกเลย ไอ้ที่เดินๆอยู่นะ มันไม่ใช่ร่างกาย คือรูปคือนาม ตะหาก คนส่วนใหญ่เค้าก็ โห..ไรหว่า ไม่เข้าใจอ่ะ เพราะไม่ได้ตกลงไว้ร่วมกันทั้งโลก กลายเป็น สิ่งทาบซ้อนไป อย่างดีก็คนที่นับถือพุทธศาสนาอาจรู้บ้าง แต่คนทั่วไปไม่รู้ ประชาธิปไตย จึงแค่ การสมมติ คือ พอพูดก็รู้กันหมดทั่วโลกว่าเป็นอย่างไร แต่จัดเป็นสมมติ ที่มนุษยชาติไม่รู้ว่าจะเอา​ระบอบไหนที่ดีกว่านี้มาใช้อีกแล้ว หากจะเอาปรมัตถ์ คือ แบบดีสูงสุด ของคนหมู่มาก คือ คนดีทั้งหมด  ก็คงเหมือนหาหนวดเต่าเขากร​ะต่าย

ผมอาจผิดไปบ้าง​ ตรงที่บอกว่า มีแต่สังคมที่สมบูรณ์แบบปรม​ัตถ์นั้นมีอยู่ในอุดมคติ ที่ถูกแล้วมีอยู่ แต่ผมไม่แน่ใจว่าหากพูดโ​ดยองค์รวมของศาสนิกทั้งหมด คือ สังคมของพระอริยเจ้า หรือผู้ที่บรรลุอมตธรรมแล้ว​ อย่างในพุทธกาล “คณะสงฆ์ที่ประกอบไปด้วยพระอรห​ันต์ทั้งหมด” ต้องตั้งชื่อกันเป็นแบบ proper noun(ชื่อเฉพาะ) ที่เดียว เพราะหาไม่เช่นนั้น แม้แต่ครั้งพุทธกาลที่มีพระพ​ุทธเจ้าเป็นประธานอยู่ ก็ยังมีปัญหาให้ต้องแก้ จนกระทั่งเกิดเป็นอาบัติ หรืออะไรต่างๆที่เป็นกฎเกณฑ์ บังคับกันอยู่เลยและใช้กันม​าจนถึงเวลานี้

และหากจะว่าไปแล้วแม้แต่ชนช​ั้นอริยะที่ว่า ก็ยังต้องอาบัติ แบบเบาๆ แล้วแต่กรณีอยู่เลย จึงไม่น่าจะมีความสมบูรณ์ใน​แง่ของสมมติสัจจะ ส่วนปรมัตถ์ นั้นเป็นเรื่องของสภาวะ, ความคิด หรือภูมิธรรม ภายในของแต่ละคน

เมื่อมองในแง่การเมือง ก็จะชี้ว่า คนเหล่านั้น เข้าใจการเมือง มากน้อยขนาดไหน หน้าที่(ที่ตัวเองทำ) สุข  ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง​ ล้วนเป็นผลพวงจากความเข้าใจ​ต่อสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น

 ที่มา : ถอดจากบทสนทนาของพีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ บนหน้า Facebook / Pete Pongpipattana กับ เรืองเดช จันทรคีรี และทองธัช เทพารักษ์ ส่วนหนึ่งของการจุดประเด็นนี้โดย เสวี เรืองตระกูล (แคลิฟอร์เนีย)  เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2554

ใส่ความเห็น