จีน-อเมริกาและสัมพันธภาพกับไทย

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ :piralv@yahoo.com

ช่วงนี้วิกิลีคส์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Cable ได้แฉอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับเมืองไทย ซึ่งสื่ออเมริกันชอบที่จะนำไปตีพิมพ์ นำเสนอ และวิพากษ์วิจารณ์  เมื่อเร็วๆก็เช่นเดียวกัน วอชิงตันไทมส์ก็ได้นำเสนอเรื่องราวที่เป็นข้อสังเกตของอดีตเอกอัคราชทูตอเมริกันประจำเทศไทย อีริค จี จอห์น(Eric G. John)ที่รายงานตรงต่อนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกา เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทย ในแง่ที่ว่าจีนได้ขยายอิทธิพลเข้าไปไทยอย่างมากและรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อีริค จี จอห์น

                อีริค จอห์น ได้ตั้งข้อสังเกตนี้ ก่อนที่เขาจะออกจากตำแหน่งเอกอัคราชทูตอเมริกันประจำกรุงเทพที่เขาประจำอยู่นาน 3 ปี เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว และก่อนที่ เอกอัคราชทูตคริสตี้ เคนนี่(Kristie Kenney) จะเข้ารับแหน่งแทนเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หมายถึงท่าทีที่รัฐบาลอเมริกันเองต้องปรับตัวในหลายด้าน ทั้งด้านการทูต การค้า วัฒนธรรมและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพื่อคงบทบาทในการสร้างความสมดุลด้านนี้ในภูมิภาค รวมทั้งให้อเมริกาสามารถสร้างความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างเหมาะสมทันกับสถานการณ์ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการทหาร

ทั้งๆที่หากสืบย้อนลงไปสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกัน มีมาตั้งแต่ปี 1833 เสียด้วยซ้ำ

วอชิงตันไทมส์ชี้ให้เห็นว่า การแผ่อิทธิพลเข้ามามากมายของจีนไปยังไทย ไม่ใช่ว่าคนไทยทุกคนจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ คนไทยบางกลุ่มได้ตั้งข้อสงสัยและหวาดระแวงต่อการเข้าไปของจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านประตูทางด้านเศรษฐกิจ ในฐานะที่จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยและฐานะเพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน  มีการมองในแง่ที่ว่าคนไทยอาจกลายเป็นเสมือนลูกน้องของจีนไปกลายๆ  เพราะต้องพึ่งอะไรหลายอย่างจากจีน โดยเฉพาะการรับวัฒนธรรมจีนหลายอย่างๆ ทั้งจากคนไทยเชื้อสายจีนที่มีอยู่แล้วในไทย ประกอบการเผยแพร่ของสื่อจีนต่างๆคนไทยรับเอาเข้ามาเรื่อยๆ และมากขึ้นในช่วงหลังๆ

หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ยังวิเคราะห์ในประเด็นเชิงวัฒนธรรมว่า  ตอนนี้แม้กระทั่งแฟชั่น ยี่ห้อดังๆจากจีน กระแสของจีนต่างๆ อย่างเช่น รูปการประสบความสำเร็จแบบนักธุรกิจชาวจีนสมัยใหม่ ได้ถูกโปรโมท หรือโฆษณาในเมืองไทย รวมกระทั่งถึงวัฒนธรรมเพลงป๊อบของจีนต่างๆ ได้ไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง

ทูตจีนประจำกรุงเทพ นาย กวน มู(Guan Mu) ผู้ซึ่งสามารถพูดไทยได้คล่องแคล่ว และอยู่ที่เมืองไทยมานานถึง 17 ปี จนกระทั่งล่าสุดจึงได้รับเลื่อนตำแหน่งเอกอัคราชทูตของจีนนั้น ก็ปรากฎตัวให้สัมภาษณ์กับทีวีของไทยอยู่บ่อยๆ

ในเรื่องความสามารถทางด้านภาษานั้น ทางฝ่ายอเมริกัน หรือฝ่ายการบริการจัดการด้านการทูตของหลายๆประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นายจอห์นนั้นสามารถพูดภาษาเกาหลีและภาษาเวียดนามได้ ขณะที่นางเคนนี่ทูตอเมริกันประจำประเทศไทยคนใหม่สามารถพูดได้ทั้งภาษาสเปนและภาษาฝรั่งเศส

กวน มู

เรื่องความสามารถทางด้านภาษาของทูตของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะทูตอเมริกัน ผมให้ข้อสังเกตไว้นิดหนึ่งว่า กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันนั้น ให้ความสำคัญกับความสามารถทางด้านภาษาของผู้ที่จะไปเป็นทูตในต่างประเทศอย่างมาก ทูตอเมริกันส่วนใหญ่พูดได้เกินกว่า 2 ภาษา ไม่เหมือนกับกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ส่วนใหญ่ทูตไทยพูดได้แค่เพียงภาษาเดียว(นอกเหนือไปจากภาษาไทย) คือภาษาอังกฤษ เรื่องความสามารถทางด้านภาษาของทูตประเทศต่างๆนี้ น่าจะไว้พูดถึงรายละเอียดอีกครั้ง เพราะแม้กระทั่งจีนเองก็ให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องนี้, การเตรียมการด้านภาษาดูจากการเปิดหลักสูตรสอนภาษาต่างชาติในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหรือเปิดเป็นหลักสูตรพิเศษทั้งในอเมริกาและจีน การทำเช่นนี้หมายถึงการเปิดหลักสูตรภาษาที่ไม่ใช่ภาษาหลักของโลก อย่างเช่น  ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาเขมร ภาษาชาติอาหรับ ชาติเปอร์เซียน เป็นต้น ขณะที่ของไทยเราคงไม่มีหลักสูตรภาษาแบบเดียวกับจีน-อเมริกาในสถาบันการศึกษาดอกกระมัง

อีกข้อสังเกตของหน่วยงานอเมริกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน จากฝ่ายอเมริกัน ตามรายงานของรัฐบาลที่เกี่ยวกับท่าทีของ 2 ประเทศในเหตุการณ์สำคัญ นั่นก็คือเหตุการณ์ยึดอำนาจของคณะนายทหารเมื่อปี 2006 , ท่าทีของของรัฐบาลอเมริกันในตอนนั้น แสดงออกในเชิงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร  ด้วยการแขวนหรือหยุดการให้เงินช่วยเหลือทางทหารจำนวน 24 ล้านเหรียญ  ทั้งพิจารณาระงับการประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยกับเจ้าหน้าที่ของอเมริกัน

ขณะที่ทางรัฐบาลจีนในเวลานั้นเสมือนเห็นคล้อยตามการรัฐประหารในไทย โดยทางการจีนบอกว่าเป็นเรื่องภายในของไทย แถมให้เงินช่วยเหลือทางด้านทหารกับไทยอีกด้วย เป็นจำนวนเงิน 49 ล้านดอลลาร์ ทั้งเพิ่มโควต้าจำนวน“นักเรียนทหารแลกเปลี่ยน” จีน-ไทย นอกเหนือไปจากการที่จีนผลักดันชักจูงให้กองทัพไทยร่วมฝึกซ้อมรบประจำปี สำหรับกำลังพลในหน่วยรบขนาดย่อม

เมื่อปีที่แล้ว กองทัพไทยกับกองทัพจีน ได้ฝึกตามแผนปฏิบัติการซ้อมรบร่วม ตามแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย  โดยมีนาวิกโยธินหน่วยสะเทิ้นน้ำสะเทินบกหรือหน่วยสงครามพิเศษของกองทัพจีนเข้าร่วมมากกว่า 100 นาย

ที่สำคัญฝ่ายจีนได้ขายอาวุธที่เรียกว่า Inferior weaponry  หรืออาวุธเกรด(คุณภาพ)ต่ำซึ่งมีราคาถูกกว่าอาวุธที่ใช้กันตามปกติให้กับฝ่ายไทย เรื่องนี้ฝ่ายอเมริกันวิเคราะห์ว่า จะทำให้กองทัพไทยต้องพึ่งพาฝ่ายจีนด้านยุทโธปกรณ์ไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกันข้อสังเกตของดีล(ตกลง)ซื้ออาวุธจากจีนของกองทัพไทยในครั้งนี้ ในอีกประการก็คือ กองทัพไทยดำเนินการไปโดยผ่านกระบวนการทางด้านกฎหมายของไทยด้านการอนุมัติจัดซื้ออาวุธอย่างสมบูรณ์ถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือกระบวนการจัดซื้ออาจถูกต้องแต่เป็นการรวบรัดเกินไป  รัฐสภาและประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสรับทราบ นอกเหนือไปจากข้อสังเกตในเรื่องของคอมมิชชั่นดีล ซึ่งแตกต่างจากระบบการซื้ออาวุธจากฝ่ายอเมริกา ที่มีวิธีการที่โปร่งใส ไม่ต้องผ่านนายหน้าหรือไม่ต้องใช้ระบบคอมมิชชั่น ต่างจากเมื่อหลายปีก่อน โดยกฎหมายอเมริกันเกี่ยวกับการขายอาวุธนี้ ถูกแก้ไขเพื่อให้การขายอาวุธกับชาติต่างๆเกิดความรัดกุมโปร่งใสมากขึ้น

การที่ไทยหันไปซื้ออาวุธเกรดต่ำจากจีน จึงมีเหตผลเชิงบวกและเชิงลบอยู่ 2 ประการ คือ ราคาถูกกว่า  แต่อาจมีการใช้ระบบชักจูง ระบบคอมมิชชั่นที่มองไม่เห็น

Richard S. Ehrlich  ซึ่งเป็นนักข่าวของวอชิงตันไทมส์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยว อิทธิพลของจีนในไทยว่า ที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คือ การลงทุนของกลุ่มทุนจีนสร้างศูนย์สินค้าขนาดใหญ่จำนวน  1.5 พันล้านดอลลาร์แถบชานเมืองกรุงเทพ เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า จีนต้องการใช้ไทยเป็นฐานสำคัญทางการค้าในภูมิภาค

เขายังได้ตั้งข้อสังเกตถึงธุรกิจไทยระดับชั้นนำหลายแขนงที่กำลังเข้าไปลงทุนในจีน เลียนแบบการลงทุนของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่เข้าไปลงทุนในจีนนับตั้งแต่ปี 1979 โดยซีพีนั้น เริ่มแรกลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับไก่  ต่อมาขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต  ธุรกิจแหล่งรวมสถานบันเทิง(Entertainment Complexes)  เป็นต้น

 กระนั้นการค้าขายระหว่างไทย-จีน ก็ใช่ว่าจะดีไปเสียหมด Ehrlich รายงานว่า เวลานี้ผู้ผลิตสินค้าของไทยกำลังประสบชะตากรรมที่ค่อนข้างลำบากขึ้นทุกวัน เพราะแข่งด้านราคาสู้ราคาสินค้าจากจีนไม่ได้ จุดนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตของไทย

สิ่งที่น่าจับตาก็คือ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะขยายการค้ากับจีน โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ การสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงอันเป็นข้อเสนอของฝ่ายจีน น.ส.ยิ่งลักษณ์มีท่าทีตอบสนองต่อข้อเสนอของจีนในเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องมีการรื้อรางรถไฟของไทยแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันออก

และนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันกำลังจับตาดูอยู่ พร้อมทั้งมีการวิจัย วิเคราะห์เหตุการณ์ในไทยเป็นระยะๆอย่างมีนัยสำคัญ

 

  1. #1 by chatsayam on พฤษภาคม 20, 2012 - 2:25 pm

    แล้ว ไทย ในสายตา จีน สหรัฐ ถือว่าเราสำคัญมากไหม

    • #2 by jaojook on พฤษภาคม 21, 2012 - 4:18 am

      มองจากจุดยุทธศาตร์ก็ต้องถือว่าสำคัญครับ เวลานี้ทั้งจีนและสหรัฐ ต่างก็พยายามคงและเข้ามามีอิทธิพลต่อเมืองไทย ในหลายๆด้านมากขึ้น

      พีร์

ใส่ความเห็น